Social Impact Assessment (SIA) การประเมินผลลัพธ์ทางสังคม ขั้นตอนสำคัญเพื่อสร้าง Social Enterprise ที่ยั่งยืน

August 11, 2020
Patty Pemika

Social Impact Assessment
ขั้นตอนสำคัญเพื่อสร้าง Social Enterprise ที่ยั่งยืน

ธุรกิจเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise (SE) เกิดมาเพื่อแก้ปัญหา และสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับสังคม แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่าโครงการที่เราทำอยู่ นำไปสู่การเปลี่ยนเปลงได้จริงหรือไม่ เกิดผลลัพธ์ที่ต้องการมากน้อยเพียงใด และจะทำอย่างไรเพื่อให้ผู้สนับสนุนเห็นคุณค่าจากธุรกิจของเรา


ใน StormBreaker Batch 3 Bootcamp ครั้งที่ 1 สตาร์ทอัพและ SE ด้านการศึกษาทั้ง 7 ทีม ได้พบกับ คุณดาว ภัทราพร ยาร์บะระ Co-founder แห่งป่าสาละ ผู้เชี่ยวชาญด้าน Social Impact Assessment (SIA) อันดับต้นของเมืองไทย ที่มาชวนทั้ง 7 ทีมวางแผนการวัดผลลัพธ์ทางสังคมกันตั้งแต่ก่อนจะเริ่มโครงการ ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญของการทำ SE แต่กลับมักถูกมองข้าม จน SE รุ่นพี่หลาย ๆ ทีมกล่าวไว้ว่า “รู้แบบนี้วางแผน Social Impact Assessment ให้ดีตั้งแต่แรกดีกว่า”

ผลลัพธ์ทางสังคมคืออะไร?

ผลลัพธ์ทางสังคม หรือ Social Impact คือ คุณค่าทางสังคมที่เกิดจากการดำเนินโครงการหรือกิจการของเรา โดยแนวคิดง่าย ๆ คือ “ถ้าไม่มีเรา ผลลัพธ์หรือการเปลี่ยนแปลงนี้จะไม่เกิดขึ้น”

การวัดผลลัพธ์ทางสังคมแตกต่างจากการวัดผลลัพธ์ทางธุรกิจ โดยเน้นไปที่ตัวชี้วัดที่แสดงถึงความเปลี่ยนแปลงในการแก้ปัญหา เช่น กิจกรรมของเราทำให้เด็กได้รับโอกาสเข้าเรียนในระดับสูงมากขึ้นหรือไม่ ซึ่งต่างจากผลลัพธ์ทางธุรกิจที่อาจอยากวัดว่า กิจกรรมนี้ทำให้คนซื้อผลิตภัณฑ์ของเรามากขึ้นหรือไม่ หรือส่งผลให้เพิ่มยอดขายเป็นจำนวนเงินเท่าไหร่

ทำไมต้องวางแผนการประเมินตั้งแต่เริ่มต้น?

ขั้นตอนของการประเมิน จะนำให้ทีมได้ลองตอบคำถามว่า “การเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่อยากเห็นเป็นอย่างไร” และ “เราจะวัดได้อย่างไร” ซึ่งถ้าตอบคำถามเหล่านี้ได้ตั้งแต่ก่อนเริ่มลงมือทำ กิจการนั้น ๆ จะได้รับประโยชน์มากมายที่จะช่วยให้ดำเนินต่อไปได้อย่างยั่งยืน

  1. สมาชิกในทีมมีเป้าหมายเดียวกันตั้งแต่ต้น ทีมจะเห็นภาพผลลัพธ์สุดท้ายที่ตรงกัน เข้าใจว่าเป้าหมายใดคือเป้าหมายหลัก เป้าหมายใดเป็นรอง ป้องกันปัญหาความคิดเห็นไม่ตรงกันที่จะตามมา และทำให้สามารถจัดการวางแผน resources ที่มีจำกัดให้เหมาะสม
  2. ยืนยันว่าผลลัพธ์สอดคล้องกับความต้องการของ stakeholders ได้แก่ กลุ่มผู้ประสบปัญหาโดยตรง กลุ่มคนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้ที่จะมาให้การสนับสนุน หากเราพบว่าเรากำลังเข้าใจผิดหรือได้มุมมองใหม่ ๆ มา จะได้ปรับแนวคิดกันตั้งแต่ก่อนเริ่มลงมือ
  3. หลีกเลี่ยงการทำงานซ้ำซ้อน หากเป้าหมายผลลัพธ์ของเราชัดเจน เราจะเริ่มเห็นว่ามีองค์กรใดบ้างที่มีเป้าหมายเดียวกัน เพื่อหลีกเลี่ยงการทำงานซ้ำซ้อน หรือหาแนวทางการร่วมมือเพื่อให้แก้ปัญหาได้มากขึ้นอีกด้วย
  4. รู้ว่าควรปรับปรุงแผนการดำเนินงานอย่างไร หากเราไม่ได้วัดผลตอนเริ่มต้นไว้ หรือเผลอไปวัดตัวชี้วัดที่ไม่สำคัญ ก็จะไม่ทราบเลยว่าที่ทำไป 1 เดือน หรือ 1 ปี ได้ผลหรือไม่ การมีตัวชี้วัดที่เหมาะสมตั้งแต่แรก จะทำให้สามารถนำมาวิเคราะห์ ปรับปรุง พัฒนาแผนการดำเนินงานต่าง ๆ ได้
  5. สื่อสารเพื่อขอความร่วมมือและความสนับสนุนได้ง่ายขึ้น กิจการที่บอกได้ว่าผลลัพธ์ทางสังคมของตนคืออะไร เปรียบเทียบสถานการณ์ before & after ที่ดีขึ้นอย่างชัดเจนได้ จะมีโอกาสได้รับความร่วมมือจากคนทั่วไป หน่วยงาน sponsor หรือนักลงทุน มากกว่ากิจการอื่น ๆ เพราะมีหลักฐานว่าเรากำลังสร้างความเปลี่ยนแปลงจริง และคุ้มค่ากว่าทางเลือกอื่่น ๆ ในการแก้ปัญหาเดียวกัน ซึ่งจากประสบการณ์ ทีมส่วนมากมักลงมือทำโดยไม่ได้เก็บข้อมูล “before” ไว้ ทำให้ไม่มีตัวเปรียบเทียบ และพูดได้ไม่เต็มปากว่ากิจการมี impact จริง

เริ่มต้นง่าย ๆ ด้วยการตอบคำถาม 3 ข้อ

คนส่วนใหญ่ เมื่อต้องการวัดผลลัพธ์ทางสังคม จะมุ่งไปที่การคิดถึงตัวชี้วัดทันที แต่จริง ๆ แล้วควรเริ่มจากการตอบคำถาม 3 สำคัญที่ช่วยให้ทุกคนในทีมเห็นภาพเดียวกันก่อน

  1. ปัญหาสังคมที่คุณต้องการแก้ไขคืออะไร ปัญหามีมากมาย แต่ไม่ใช่ปัญหาสังคมทั้งหมด เช่น “ปัญหานักเรียนหลุดออกจากระบบการศึกษา” อันนี้ทุกคนเห็นด้วยว่าเป็นปัญหาสังคมแน่นอน แต่ถ้ายกมาว่า “ปัญหาครูขาดสื่อการสอนที่ทันสมัย” อาจยังต้องคิดต่อ ว่า “แล้วไงต่อ” ปัญหานี้นำไปสู่อะไร แล้วปัญหาที่แท้จริงที่เราอยากแก้คืออะไร
  2. ใคร คือ คนที่คุณอยากแก้ปัญหาให้ ถึงแม้ปัญหาอาจมีผู้ที่ได้รับผลกระทบหลายส่วน ให้ลองนึกถึง กลุ่มที่สำคัญที่สุด อาจเป็นคนที่เราคิดว่ากำลัง in pain ที่สุด หรือคนที่เราเข้าใจเขาที่สุดก็ได้
  3. คุณจะรู้ได้ยังไงว่าปัญหาสังคมที่ว่าบรรเทาลง หรือหมดไปแล้ว การสร้างผลลัพธ์ทางสังคม คือการสร้างความเปลี่่ยนแปลง จะรู้ได้อย่างไรว่า change นั้นเกิดขึ้นแล้ว?

ขั้นตอนการประเมินผลลัพธ์ทางสังคม

มีทั้งหมด 7 ขั้นตอน แต่สำหรับ SE ที่เพิ่งเริ่มต้น แค่เข้าใจข้อ 1-4 ก่อนก็เพียงพอแล้ว

เส้นทางของการประเมินผลลัพธ์ทางสังคม


1. Stakeholders analysis

วิเคราะห์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งคนที่ช่วยสร้าง impact คนที่ได้รับ impact และคนที่บอกได้ถึงการเปลี่ยนแปลง เช่น ในเด็ก คือ พ่อแม่ คุณครู เพื่อเข้าใจว่าการวัดผลของเราต้องได้รับความคิดเห็นหรือความร่วมมือจากฝ่ายใดบ้าง

2. Theory of change

หรือ ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลง เป็นความเชื่อตั้งต้นของทีมว่า ถ้าเราทำให้เกิด X แล้ว… Y หรือ การเปลี่ยนแปลงที่คาดหวัง ก็จะเกิดขึ้นด้วย” ควรเป็นประโยคสั้น ๆ ที่คนนอกสามารถอ่านแล้วต้องเข้าใจทันทีว่าเราทำอะไรไปเพื่ออะไร เช่น

ถ้านักเรียนที่ยากจนในโรงเรียนที่อยู่ห่างไกลเข้าถึงองค์ความรู้และสื่อการเรียนที่ดีขึ้นแล้ว นักเรียนจะมีผลการเรียนดีขึ้นและเรียนต่อในระดับสูงขึ้นเพิ่มขึ้น”

ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงเป็นเพียงความเชื่อแรกเริ่มของทีม จึงไม่มีถูกผิด เพียงแต่ต้องนำไปพิสูจน์ผ่านการลงมือทำและวัดผล ว่าทฤษฎีเป็นไปตามที่เราคิดหรือไม่ และสามารถกลับมาปรับเปลี่ยนได้

3. Impact Value Chain

framework ที่ช่วยให้มองเห็นภาพรวมที่จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง

Impact Value Chain

ข้อแนะนำ: 

  • นิยมเขียนจากหลังมาหน้า คือ เริ่มที่เป้าหมายผลลัพธ์ทางสังคมระยะยาวที่อยากเห็น แล้วคิดถอยมาว่าจะไปถึงจุดนั้นได้อย่างไร 
  • ระหว่างลงมือทำ อาจได้มุมมองใหม่ ๆ สามารถกลับมาปรับเปลี่ยนแต่ละข้อได้ แต่ long term outcome หรือ ผลลัพธ์สุดท้าย ไม่ควรเปลี่ยน เพราะเราควรมีเป้าหมายที่แน่นอนตั้งแต่แรก

ข้อควรระวัง: 

  • ในระยะเริ่มต้น ไม่ควรมี long term outcome เกิน 3 ข้อ จะทำให้หลุด focus 
  • ไม่ควรใส่ผลลัพธ์ที่ไม่ได้มาจาก actiivty ของเรา 

4. Social Impact Indicators

การตั้งตัวชี้วัด โดยเก็บข้อมูลก่อน-หลังมาเปรียบเทียบ ควรสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงที่เราอยากเห็น ตัวชี้วัดที่ดีควรมีคุณลักษณะแบบ SMART Indicator คือ Specific, Measurable, Achievable, Relevant และ Time-bound เช่น เด็กในชุมชนหลุดออกนอกระบบน้อยลง วัดจาก เปอร์เซนต์ของเด็กในชุมชนที่เรียนต่อในระดับมัธยามศึกษามากขึ้น เพิ่มจาก 60% เป็น 65% ภายใน 1 ปี

ข้อควรระวัง:

  • ไม่ควรเริ่มจากการลอก indicator จากหน่วยงานอื่นหรือต่างประเทศ เพราะบริบทอาจไม่เหมือนกัน และอาจทำให้สับสนมากขึ้น
  • ความพึงพอใจ, เวลา, ความถี่ ที่ใช้ platform - indicator เหล่านี้เอามาปรับปรุงการดำเนินงานได้ แต่ไม่ได้บ่งบอกถึงความเปลี่ยนแปลงทางสังคม
  • วิธีเก็บข้อมูลช่วงเริ่มต้น สามารถถามจากกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมกิจกรรม ยังไม่จำเป็นต้องไปดึงข้อมูลความเปลี่ยนแปลงจากกระทรวงหรือระดับประเทศมา เพราะจะหลุด scope ที่เราทำงานด้วย

Resource เพิ่มเติมเพื่อช่วยหาตัวชี้วัด IRIS ฐานข้อมูลตัวชี้วัดจากทั่วโลก หรือ Social Impact Explorer ของ NIA ช่วยคิดตัวชี้วัดผ่านการทำแบบทดสอบ

สุดท้ายนี้ วิธีการวัดผลลัพธ์ทางสังคมอาจทำได้หลายแนวทาง แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือการที่ทีมมีเป้าหมายที่ชัดเจนและตรงกัน ว่าเรากำลังแก้ปัญหาอะไร ให้ใคร และให้ความสำคัญกับการวัดผลช่วงก่อน-หลังการทำงานอย่างต่อเนื่อง หากทำได้ ก็จะทำให้ตัวเราและคนภายนอกเห็นคุณค่าจากสิ่งที่เราทำได้อย่างชัดเจน

อ่านรายงานฉบับสมบูรณ์ของป่าสาละได้ที่นี่

ติดตามข่าวสารความรู้ในวงการสตาร์ทอัพได้ทางเพจ Disrupt Technology Venture และพบกันที่งาน Education Disruption Conference 2020: Reimagine Thailand’s Education 2030, Virtual Conference ที่จะพาทุกคนมาเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของการศึกษาไทยที่กำลังจะเกิดขึ้น ผ่านบทสัมภาษณ์สุด exclusive จากผู้เชี่ยวชาญระดับโลกมากมาย พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับ EdTech Startups และ Social Entrepreneurs ที่ประสบความสำเร็จจากทั่วโลก ลงทะเบียนได้แล้ววันนี้ ที่นี่


Update ความรู้จาก Disrupt ได้ที่ช่องทาง