SMART Goal เทคนิคการตั้งเป้าหมายที่ทำง่ายและใช้ได้จริง

October 24, 2024
BB Banthita
เทคนิคการตั้งเป้าหมาย SMART Goal

ในสภาพแวดล้อมการทำงานที่รวดเร็วและต้องการความร่วมมือจากหลายฝ่าย การไม่เห็นภาพเป้าหมายร่วมกันกับผู้ร่วมงานคนอื่นสามารถสร้างปัญหาอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการทำงานที่ไม่สอดคล้องกัน การขาดความเข้าใจในทิศทางและวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนซึ่งสร้างผลกระทบให้การทำงานเกิดความล่าช้าและการทำงานมีประสิทธิภาพที่ลดลง

ด้วยเหตุนี้การตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนช่วยให้ทุกคนในทีมเข้าใจทิศทางและวัตถุประสงค์ร่วมกัน ลดความสับสนและการทำงานที่ไม่สอดคล้องกัน นอกจากนี้ การตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนยังช่วยให้สามารถประเมินและติดตามผลการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้สามารถวัดความก้าวหน้าและปรับปรุงกระบวนการทำงานได้ตลอดเวลา

ในบทความนี้จึงจะมาแนะนำให้รู้จักกับแนวคิดการตั้งหมายที่เรียกว่า SMART goals ซึ่งหลักการ Smart เป็นกรอบวิธีการตั้งเป้าหมายเพื่อให้การตั้งเป้าหมายดังกล่าวมีความชัดเจน สามารถติดตามผลได้นำไปสู่การทำงานภายใต้เป้าหมายดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นนอกจากจะให้ความรู้ว่า smart goal ประกอบด้วยอะไรบ้าง บทความนี้ยังให้ความรู้เกี่ยวกับแนวคิด OKR ซึ่งเป็นหลักการที่ช่วยเสริมการตั้งเป้าหมายให้มีความท้าทายที่เพียงต่อต่อการพัฒนาองค์กรให้เจริญเติบโตยิ่งขึ้น

Highlight

 SMART GOAL คือแนวคิดของกรอบการตั้งเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพผ่านการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนและสามารถติดตามผลได้

  •  การเป้าหมายแบบ SMART GOAL มีประโยชน์อย่างมากต่อการทำงานและการดำเนินชีวิตส่วนตัว เนื่องจากการตั้งเป้าหมายแบบ SMART GOAL ช่วยให้สามารถวางแผนการดำเนินงานได้อย่าง smart ขึ้น
  • ตัวอย่างการวางเป้าหมายแบบ SMART GOAL โดยเสริมด้วยการวางเป้าหมายแบบแนวคิด OKRs

SMART Goal คืออะไร ?

SMART GOAL คือแนวคิดของกรอบการตั้งเป้าหมายสามารถทำงานภายใต้เป้าหมายดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพและเอื้อต่อการติมตามผลได้ชัดเจนว่าการทำงานตอบสนองต่อเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่ โดยหลัก SMART GOAL สามารถใช้ได้ทั้งกับการวางแผนการดำเนินงานตลอดจนถึงการตั้งเป้าหมายในการดำเนินชีวิตเช่น การตั้งเป้าหมายในการสร้างผลิตภัณฑ์ หรือการตั้งเป้าหมายในการเปลี่ยนแปลงตนเองให้เป็นผู้ที่มีทัศนคติที่ดีขึ้น

องค์ประกอบหลักทั้ง 5 ของ SMART goal

องค์ประกอบหลักของ SMART goal

S - Specific (เฉพาะเจาะจง)

: เป้าหมายต้องชัดเจนและเจาะจง ไม่คลุมเครือ

มีหลายครั้งที่การวางเป้าหมายของใครหลายคน เมื่อดำเนินการเพื่อไปสู่เป้าหมายกลับพบว่าไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานสักเท่าไรก็ไม่รู้สึกว่าเข้าใกล้เป้าหมายเหล่านั้นได้เลย ปัญหาของความรู้สึกเข้าไม่ถึงเป้าหมายได้เหล่านั้นล้วนแต่เป็นปัญหามาจากการวางเป้าหมายที่ไม่ชัดเจนตั้งแต่ต้นทั้งสิ้น อาทิ การตั้งเป้าหมายที่มีความเป็นนามธรรมมากเกินไปอย่างการตั้งเป้าหมายว่าฉันต้องการจะรวย หรือฉันต้องการดูดีขึ้น การตั้งเป้าหมายในรูปแบบดังกล่าวทำให้ผู้ที่ต้องการไปสู่เป้าหมายไม่สามารถรู้ได้ว่าจะมีจุดสิ้นสุดที่ตรงไหนจนทำให้ผู้ที่ทำตามเป้าหมายเกิดอาการท้อหรือหมดไฟได้ ดังนั้นการตั้งเป้าหมายที่ดีจึงควรตั้งเป้าหมายให้มีความชัดเจนและเป็นรูปธรรมเพื่อให้สามารถรับรู้ได้ว่าเข้าใกล้เป้าหมายที่วางไว้มากขึ้นแล้วแค่ไหน

M - Measurable (วัดผลได้)

: ต้องสามารถวัดความก้าวหน้าและผลลัพธ์ได้

คล้ายคลึงกับปัญหาที่เกิดขึ้นกับตัวอย่างก่อนหน้าที่ว่าเมื่อทำงานไปเรื่อย ๆ กลับไม่สามารถรับรู้ได้ว่าตนเองเข้าใกล้เป้าหมายแล้วหรือไม่จนนำไปสู่ภาวะหมดไฟ นอกจากนี้การที่เป้าหมายไม่มีความชัดเจนที่สามารถวัดผลได้สามารถก่อให้เกิดปัญหาของการวัดประสิทธิภาพการทำงานของทีมได้ทำให้การทำ team building ไม่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพเนื่องจากไม่อาจทราบได้ว่าทีมมีจุดแข็งหรือจุดอ่อนในการทำงานอย่างไร เช่นนั้นเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการติดตามและวัดประสิทธิภาพในการทำงาน เป้าหมายที่วางควรต้องมีเงื่อนไขซึ่งนำมาวัดความก้าวหน้าและผลลัพธ์ในการทำงานได้ อาทิ ลดเวลาการตอบสนองของทีมบริการลูกค้าจาก 30 นาทีเหลือ 15 นาที ภายในสิ้นไตรมาสที่ 2 การตั้งเป้าหมายในลักษณะดังกล่าวจะเห็นได้ว่าหากการตอบสนองของทีมบริการไม่ถึงตามเป้าหมายที่วางไว้ย่อมหมายถึงการทำงานต้องมีการปรับปรุงหรืออาจต้องมีการอบรมพนักงานเพิ่มเติมเพื่อให้สามารถเข้าใกล้เป้าหมายมากกว่าเดิมในไตรมาสถัดไป

A - Achievable (บรรลุผลได้)

: เป้าหมายต้องท้าทายแต่สามารถทำให้สำเร็จได้จริง

นอกจากความไม่ชัดเจนของเป้าหมาย ปัญหาอีกสิ่งหนึ่งที่หลายคนมักทำผิดพลาดเวลาที่กำหนดเป้าหมายคือการตั้งเป้าหมายที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์หรือสิ่งที่ตนเองมี ดังตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนในกรณีของการออกกำลังกาย หากในวันหนึ่งคนที่ไม่เคยออกกำลังกายเลยได้ตั้งเป้าหมายว่าวันพรุ่งนี้ฉันจะยกของหนักให้ได้ 1 ตัน แน่นอนว่าถ้าไม่มีปาฏิหาริย์เกิดขึ้นเขาย่อมไม่สามารถยกของหนัก 1 ตันได้ในวันถัดมาดังที่ตั้งเป้าหมายไว้ได้อย่างแน่นอนเนื่องจากเวลาและพื้นฐานไม่สอดคล้องกับความยากของเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้

ในกรณีของการทำงานแม้ว่าการตั้งเป้าหมายให้ท้าทายจะเป็นเรื่องที่ดีต่อพัฒนาการขององค์กร แต่การตั้งเป้าหมายที่เกิดกว่าจะทำให้สำเร็จได้ย่อมจะนำไปสู่การวิเคราะห์ศักยภาพของตนได้แย่ลงรวมถึงสร้างแรงกดดันในการทำงานจนเกินความจำเป็น เพราะอย่าลืมว่าหากตั้งเป้าหมายและไม่สามารถไปถึงเป้าหมายได้เป็นจำนวนครั้งติดต่อกันเป็นเวลานาน ผู้ดำเนินงานย่อมเกิดความท้อแท้และเกิดอาการหมดไฟได้เช่นกัน ดังนั้นการตั้งเป้าหมายที่ดีจึงควรตั้งเป้าหมายโดยคำนึงถึงพื้นฐานที่ตนเองหรือองค์กรมีเพื่อให้ไม่เกิดความเครียดในการทำงานมากเกินไปจนหมดไฟ

R - Relevant (สอดคล้อง)

: ต้องสอดคล้องกับเป้าหมายระยะยาวและวิสัยทัศน์ขององค์กร

การตั้งเป้าหมายที่สอดคล้องกับเป้าหมายระยะยาวและวิสัยทัศน์ขององค์กรมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะช่วยให้ทุกคนในองค์กรมีทิศทางและวัตถุประสงค์ร่วมกัน การตั้งเป้าหมายเช่นนี้ทำให้การทำงานมีความหมายและเกี่ยวข้องกับภาพรวมขององค์กร ส่งผลให้เกิดความร่วมมือและความมุ่งมั่นในการทำงานมากขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยให้การตัดสินใจและการบริหารจัดการทรัพยากรมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเป้าหมายที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์จะนำไปสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืนและเสริมสร้างความเจริญเติบโตในระยะยาวขององค์กร

ทั้งนี้หากองค์กรใดกำลังใช้แนวคิดการทำงานแบบ Agile อยู่การวางเป้าหมายที่สอดคล้องกับเป้าหมายระยะยาวก็สามารถช่วยให้เป้าหมายในระบบการทำงานแบบ Agile สามารถเกื้อหนุนให้องค์กรสามารถเติบโตในระยะยาวได้อย่างยั่งยืนด้วยเช่นกัน

T - Time-bound (มีกำหนดเวลา)

: ต้องมีกรอบเวลาที่ชัดเจนในการบรรลุเป้าหมาย

การตั้งเป้าหมายที่มีกำหนดเวลาชัดเจนเป็นสิ่งสำคัญ เพราะช่วยให้การดำเนินงานมีโครงสร้างและความชัดเจน การมีกรอบเวลาที่แน่นอนจะช่วยกระตุ้นให้เกิดความเร่งรีบในการทำงาน และป้องกันการผัดวันประกันพรุ่ง นอกจากนี้ยังช่วยให้สามารถวางแผนและจัดสรรทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อเป้าหมายมีกรอบเวลาที่ชัดเจน ทีมงานสามารถติดตามและประเมินผลความคืบหน้าได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้สามารถปรับปรุงและแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที การตั้งเป้าหมายที่มีกำหนดเวลาจึงเป็นเครื่องมือที่ช่วยเพิ่มโอกาสในการบรรลุเป้าหมาย และสร้างความมั่นใจในความสำเร็จของโครงการหรืองานที่ทำ

ดังเช่นองค์ประกอบของการตั้งเป้าหมายที่สอดคล้องกับเป้าหมายระยะยาว หากองค์กรใดกำลังทำงานภายใต้แนวคิด Agile การกำหนดเวลาให้ชัดเจนเป็นสิ่งสำคัญเป็นอย่างยิ่งเพื่อให้การทำงานในแนวคิดดังกล่าวไม่เกิดความล่าช้าซึ่งขัดแย้งกับผลเชิงบวกในการทำงานแบบ Agile

การตั้งเป้าหมายแบบ Smart (SMART Goal) มีประโยชน์อย่างไร

  1. SMART GOAL ช่วยให้องค์กรสามารถวางเป้าหมายได้ชัดเจน และติดตามผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  2. SMART GOAL ช่วยการทำงานตามเป้าหมายไม่ก่อให้เกิดภาวะหมดไฟ
  3. SMART GOAL ช่วยให้องค์กรสามารถวางแผนจัดการทรัพยากรของแต่ละเป้าหมายได้มีประสิทธิภาพ จากการรู้ขนาดของเป้าหมายได้ชัดเจนมากขึ้น
  4. SMART GOAL เสริมให้สามารถตรวจเช็คได้ว่าเป้าหมายที่กำลังวางแผนสอดคล้องหรือส่งเสริมเป้าหมายระยะยาวได้หรือไม่ ส่งผลให้เกิดความสำเร็จที่ยั่งยืน
  5. SMART GOAL ช่วยให้สามารถวิเคราะห์ปัญหาได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น
  6. SMART GOAL ช่วยให้สามารถทำ team building ได้อย่างมีประสิทธิภาพเพราะสามารถกำหนดเป้าหมายร่วมได้ชัดเจนยิ่งขึ้นส่งผลให้ลดปัญหาการเข้าใจเป้าหมายที่แตกต่างกัน

นำ Smart Goal มาปรับใช้กับองค์กร

การนำ Smart Goal มาปรับใช้กับองค์กร

การใช้เป้าหมายแบบ SMART Goal ในองค์กรมีความสำคัญมากเนื่องจากมีประโยชน์หลายด้านที่ช่วยให้ผู้นำสามารถพัฒนาตัวเองและทีมงานได้ดังนี้

การกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนตามหลัก SMART (Specific, Measurable, Achievable, Relevant, Time-bound) ช่วยให้องค์กรสามารถวางแผนการดำเนินงานได้อย่างมีระบบและเป็นระเบียบ เพื่อให้ทุกคนในทีมเข้าใจและมุ่งเน้นที่วัตถุประสงค์เดียวกัน ทำให้มีการทำงานร่วมกันและสนับสนุนกันในการบรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มความมั่นใจและความมุ่งมั่นในการทำงาน เนื่องจากทุกคนมีเป้าหมายที่ชัดเจนและเข้าใจถึงสิ่งที่ต้องทำในแต่ละขั้นตอนของการดำเนินงาน

นอกจากนี้ยังช่วยให้บริษัทสามารถตรวจสอบจุดอ่อนและจุดแข็งของบริษัทตนเองจากการตรวจสอบความคืบหน้ากับระยะเวลาที่ใช้ต่อเป้าหมายที่วางไว้ซึ่งนำไปสู่การได้รับรู้ข้อมูลที่สามารถนำไปฝึกอบรมพนักงานหรือปรับปรุงวัฒนธรรมขององค์กรได้

ตัวอย่างการตั้ง SMART Goal

ดังที่ได้กล่าวไว้ว่าการตั้งเป้าหมายแบบ SMART Goal ประกอบด้วยองค์ประกอบ 5 อย่างคือ Specific, Measurable, Achievable, Relevant, Time-bound เช่นนั้นแล้วมาลองดูตัวอย่างการตั้งเป้าหมายแบบ SMART Goals 

ตัวอย่างที่ 1 :

เป้าหมาย: ลดอัตราการลงโทษทางด้านการปฏิบัติงานในโรงงานเป็นจำนวนเงิน

  • Specific (ชัดเจน): ลดอัตราการลงโทษทางด้านการปฏิบัติงานในโรงงานจาก 3% เหลือ 1% ภายใน 6 เดือน
  • Measurable (สามารถวัดได้): วัดผลจากการลดอัตราการลงโทษทางด้านการปฏิบัติงานในโรงงานจากเก็บข้อมูลของกฎระเบียบการปฏิบัติงานและการบันทึกการลงโทษ
  • Achievable (เป็นไปได้): ดำเนินการปรับปรุงการสอบทานของกฎระเบียบการปฏิบัติงานและการใช้วิธีการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวกับความปลอดภัยทางการเรียน

นอกจากนี้เพื่อให้การวางเป้าหมายมีประสิทธิภาพมากขึ้นการใช้แนวคิด Okr มาประกอบก็จะสามารถช่วยให้วางเป้าหมายได้ดีขึ้นโดยหลักการใช้แนวคิด Okr มีดังนี้คือ 1. ตั้ง Objective (เป้าหมาย) และ 2. ตั้งKey Results (ผลลัพธ์สำคัญ) โดยหากใช้แนวคิดแบบ Okr มาเพิ่มเติมในการวางเป้าหมายจะได้ผลลัพธ์ดังตัวอย่างนี้

ตัวอย่างที่ 2:

Objective เป้าหมาย: เพิ่มระดับภาษาอังกฤษจากระดับปานกลางเป็นระดับสูงในช่วง 6 เดือน

  • Specific (ชัดเจน): ปรับปรุงทักษะภาษาอังกฤษโดยการเรียนรู้คำศัพท์เพิ่มเติมและฝึกการพูดและเขียนในชีวิตประจำวัน
  • Measurable (สามารถวัดได้): วัดผลจากการทำแบบทดสอบทางภาษาอังกฤษและการสื่อสารภาษาอังกฤษกับบุคคลที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่
  • Achievable (เป็นไปได้): จัดตารางเวลาการเรียนรู้และฝึกภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวันและปรับปรุงให้สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้บ่อยมาก
  • Relevant (สอดคล้อง): พัฒนาทักษะภาษาอังกฤษเพื่อเติบโตอาชีพและการสื่อสารระหว่างชาติ
  • Time-bound (มีกำหนดเวลา): สามารถปรับปรุงภาษาอังกฤษได้ในช่วง 6 เดือนที่กำหนด

Key Results (ผลลัพธ์สำคัญ):

  1. KR1: ปรับปรุงทักษะการอ่านและคำศัพท์ภาษาอังกฤษโดยอ่านหนังสือภาษาอังกฤษอย่างน้อย 30 นาทีต่อวันเป็นเวลาอย่างน้อย 5 วันต่อสัปดาห์
  2. KR2: ฝึกภาษาอังกฤษในการสื่อสารโดยการเข้าร่วมกิจกรรมสนทนาภาษาอังกฤษหรือหาเพื่อนพูดภาษาอังกฤษอย่างน้อย 2 ครั้งต่อเดือน
  3. KR3: ทำแบบทดสอบทางภาษาอังกฤษเพื่อวัดผลการเรียนรู้ทุกๆ 2 เดือนและปรับปรุงให้ได้คะแนนสูงขึ้น

จะเห็นได้ว่านอกจากการวางกรอบเป้าหมายที่มีความชัดเจนและสามารถติดตามผลได้สะดวกขึ้นแล้วการใช้แนวคิด Okr มาร่วมในการวางเป้าหมายยังทำให้กำหนดผลลัพธ์ที่ต้องการและเป้าหมายรองได้ชัดเจนขึ้นอันเป็นผลดีต่อการพัฒนาภาษาอังกฤษได้ดีขึ้นอีกด้วย

บทสรุป SMART Goal ตัวช่วยมุ่งไปสู่เป้าหมาย

SMART Goal คือแนวคิดในการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพ ทำให้ง่ายต่อการติดตามและวัดผลการทำงานได้อย่างชัดเจน โดยการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพตามแนวคิด SMART Goals ประกอบด้วย Specific, Measurable, Achievable, Relevant, และ Time-bound เพื่อช่วยให้งานที่ทำมีการวางแผนและประสานงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตามนอกจากการวางเป้าหมายโดยใช้แนวคิดแบบ SMART GOAL การใช้แนวคิดการกำหนดเป้าหมายแบบ OKRs มาเสริมจะสามารถช่วยให้การวางเป้าหมายในส่วนของผลลัพธ์มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

หากผู้อ่านต้องการศึกษาแนวคิดในการพัฒนาตนตนเองและองค์กร หรือการบริหารจัดการ สามารถปรึกษาทีม Disrupt corporate program ที่เชี่ยวชาญเรื่องการถ่ายทอดความรู้ให้กับองค์กรได้เลย

Update ความรู้จาก Disrupt ได้ที่ช่องทาง