เสริมพลังบวกให้นักศึกษาครูด้วยวิชาจิตวิทยาเชิงบวก
“ถ้าดื้อ จะทำโทษตัดคะแนนจิดพิสัย!”
“ถ้าไม่ฟัง จะเรียกประชุมผู้ปกครอง!”
“สอบได้คะแนนแค่นี้จะไปทำอะไรได้!”
ลองมองย้อนกลับไปในสมัยที่ยังเรียนอยู่ หลายคนคงจะคุ้นหูกับประโยคเหล่านี้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าวิธีการที่คุณครูใช้เพื่อปรับพฤติกรรมเด็ก จะเน้นไปที่แนวทางของการ ‘ลงโทษ’ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วอาจไม่ได้ผล และยิ่งอาจทำให้เด็กยิ่งรู้สึกต่อต้านมากขึ้น
นี่ไม่ใช่ความผิดของคุณครู แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจาก ‘ความไม่รู้’ ต่างหาก
“คุณครูหลายท่านไม่ทราบวิธีการสร้างความสัมพันธ์กับเด็กนักเรียน ทำให้เกิดการผิดใจกันอยู่บ่อยครั้งโดยไม่ตั้งใจ หลักการจิตวิทยาเชิงบวกสามารถช่วยให้คุณครูกับนักเรียนเปิดใจเข้าหากันได้ พลิกโฉมห้องเรียนให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย” คุณสมิต อรุณฉัตร คุรุวาณิชย์ นักวิชาการผู้ขับเคลื่อนแนวคิดจิตวิทยาเชิงบวกในภาคการศึกษา ผู้ร่วมก่อตั้ง Mindset Maker และ Life Education Thailand กล่าว
จากกรณีโรงเรียนแห่งหนึ่งใน กทม. ที่เป็นข่าวครึกโครมในปีที่ผ่านนี้ เห็นได้ชัดว่านี่เป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ของการศึกษาไทย และหากมองไปถึงระบบการผลิตและพัฒนาครู จะเห็นได้ว่าวิชาส่วนใหญ่มักจะเน้นไปที่การพัฒนาทักษะความรู้ให้ครู แต่ยังไม่ค่อยมีวิชาที่สร้างทักษะทางพฤติกรรม (non-cognitive skills) หรือทักษะเชิงมนุษย์และสังคม มากนัก วิชาจิตวิทยาที่มีอยู่ในปัจจุบันมักเน้นไปในเชิงทฤษฎี นักศึกษาครูนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงได้ยาก
ด้วยเหตุนี้ ทีม Mindset Maker จึงได้ทดลองออกแบบหลักสูตรจิตวิทยาเชิงบวกระยะสั้นสำหรับนักศึกษาครู โดยสอนหลักทฤษฎีเพียงแค่ 20 นาทีแรกของคาบ แล้วใช้เวลาที่เหลือทำ workshop เน้นการลงมือปฏิบัติจริงเพื่อให้ผู้เรียนสามารถปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้
ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา ทีม Disrupt มีโอกาสได้ไปร่วมสังเกตการสอนวิชาจิตวิทยาเชิงบวกของทีม Mindset Maker ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี โดยในครั้งนี้มีนักศึกษาครูชั้นปีที่ 4 และปีที่ 1 เข้าร่วมราว ๆ 40 คน
จิตวิทยาเชิงบวกไม่ใช่การมองโลกแต่ในแง่ดี แต่เป็นการมองโลกตามความเป็นจริง
คนส่วนใหญ่มักไม่เข้าใจว่าจิตวิทยาเชิงบวกคืออะไร จึงไม่เห็นถึงความสำคัญมากนัก จากการที่ทีม Disrupt ได้เข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ในคลาสนี้ รู้สึกได้ว่าการเรียนเพียง 6 ครั้งนี้ สามารถเปลี่ยน mindset การมองโลกได้เลย ทีมงานยังรู้สึกด้วยว่าเสียดายที่ไม่เคยได้เรียนหลักการนี้ตั้งแต่เด็ก ๆ
โดยทั่วไปหากเราพูดถึง ‘จิตวิทยา’ จะเป็นการวินิจฉัยว่าทำไมคนคนหนึ่งถึง ‘ผิดปกติ’ และจะหาทางทำให้ ‘กลับมาเป็นปกติ’ ได้อย่างไร ซึ่งเป็นการให้ความสำคัญกับสิ่งที่ผิดพลาดไป หรือ “Focus on what’s wrong”
แต่สำหรับ ‘จิตวิทยาเชิงบวก’ (Positive Psychology) จะเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งภายในจิตใจของบุคคล ผ่านกระบวนการที่ทำให้มองเห็นคุณค่าและจุดแข็งภายในของตนเอง เป็นการ “Focus on what works” และนำสิ่งนั้นมาต่อยอด มากกว่านั่งจับผิดในสิ่งที่พลาดไป เช่น เด็กที่อาจไม่เก่งคณิตศาสตร์ แต่ไม่ได้หมายถึงเขาไม่มีคุณค่าหรือความสามารถเลย เขาอาจจะมีความคิดสร้างสรรค์หรือจุดแข็งด้านอื่นก็ได้ แทนที่จะตัดสินว่าเด็กคนนี้เรียนไม่เก่ง ด่าทอคะแนนสอบ แต่บทบาทของคุณครู คือ การค้นหาว่าเด็กคนนี้มีจุดแข็งเรื่องอะไร แล้วจะสามารถช่วยเสริมสร้างจุดนั้นได้อย่างไร เพื่อให้เด็กรู้สึกมีคุณค่า มีกำลังใจในการเรียน แล้วถึงจุดนั้นค่อยมาพัฒนาเรื่องคณิตศาสตร์ก็ยังไม่สาย
คุณสมิตสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ให้รู้สึกผ่อนคลาย ปลอดภัย และไว้วางใจได้ จนทำให้น้อง ๆ นักศึกษาครูกล้าที่จะแชร์ความคิดของตัวเอง ไม่มีการบังคับให้พูด คุณสมิตเพียงแค่สร้างพื้นที่การแบ่งปันผ่านคำพูดง่าย ๆ “ไหนใครอยากแชร์ให้เพื่อนฟังบ้าง” และไม่ตัดสินว่าอะไรผิด อะไรถูก ในช่วงแรกยังเงียบอยู่บ้าง แต่เมื่อกิจกรรมดำเนินไปเรื่อย ๆ น้อง ๆ ได้เปิดใจให้กันและกัน จนในที่สุดทุกคนก็ร่วมแบ่งปันเรื่องราวของตนเอง
สิ่งที่ประทับใจทีมงานอย่างมากเลย คือ ความตั้งใจของน้อง ๆ ในการร่วมกิจกรรม คลาสนี้เป็นคลาสพิเศษที่ทางมหาวิทยาลัยเปิดแยกขึ้นมาและทับซ้อนกับช่วงปิดเทอม ใครที่สนใจสามารถมาลงเรียนได้เองตามความสมัครใจ พบว่ามีน้อง ๆ ลงทะเบียนมาเยอะมาก และเมื่อทำกิจกรรม ก็ตั้งใจทำกันเต็มที่จริง ๆ และนี่คือเสียงตอบรับจากการเรียนวิชาจิตวิทยาเชิงบวก…
Character Strengths คนทุกคนแตกต่างกัน เลือกมองที่จุดแข็งของแต่ละคน
ในคลาสได้มีการสอนเรื่อง Character Strengths หรือ อุปนิสัยที่เรามีความโดดเด่น ซึ่งแต่ละคนมีความโดดเด่นที่ต่างกัน แทนที่จะมองว่า 'ต่าง หรือ ไม่เข้าพวก' เราควรมองว่าความแตกต่างนี้แหละที่ช่วยส่งเสริมซึ่งกันละกันได้
กิจกรรมในคลาสนี้ได้ช่วยให้ทุกคนได้ reflect ตัวเองว่าจุดแข็งของตัวเองคืออะไร รวมถึงได้รู้มุมมองของเพื่อนในห้องด้วยว่าเพื่อนคิดว่าจุดแข็งของเราคืออะไร เหมือนและต่างจากที่เราคิดอย่างไร เป็นการเปิดมุมมองที่เรามองตัวเองให้กว้างยิ่งขึ้น ได้รู้และเข้าใจว่าตัวเองมี core strengths อะไร หรือ weakness อะไร จะช่วยให้เราเห็นสิ่งที่เราจะสามารถพัฒนาได้ในอนาคต และเห็นว่าคนทุกคนมีคุณค่า
สำหรับในภาคการศึกษาเอง แนวคิดนี้สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการจัดการห้องเรียนได้ เพียงครูเปลี่ยน mindset ว่านักเรียนแต่ละคนก็จะมี strengths และ weaknesses ที่แตกต่างกันออกไป จึงควรออกแบบวิธีการให้เหมาะสมกับเป็นรายบุคคลไป
สิ่งที่ประทับใจคือ กิจกรรม Strength-Based Classroom ซึ่งให้นักศึกษาครูได้ลองคิดแบบแผนกิจกรรมในหรือนอกห้องเรียน เพื่อปลูกฝังเสริมสร้างจุดแข็งเชิงบวกให้เด็ก ๆ ตัวอย่างโจทย์ เช่น “จะจัดกิจกรรมอะไรเพื่อส่งเสริมให้เด็ก ๆ มี teamwork มากขึ้น?” นักศึกษาหลายกลุ่มมีไอเดียที่สร้างสรรค์ แม้ว่าช่วงแรกยังคงยึดติดกับการคิดอยู่ในกรอบบ้าง อย่างไรก็ตามนักศึกษาทุกคนล้วนยินดีที่จะคิดนอกกรอบมากขึ้นเมื่อทีมงานได้ตั้งคำถามกลับ เรารู้สึกประทับใจในความกล้าของนักศึกษาที่จะต้องเดินออกจาก comfort zone เชื่อว่าน้อง ๆ นักศึกษาครูทั้งหมดนี้จะสามารถนำความรู้ที่ได้เรียนไปใช้ออกแบบกิจกรรมในห้องเรียนของตนเองเมื่อต้องออกสู่สนามการสอนจริง
ทีม Disrupt มองว่ากระบวนการจัด workshop เช่นนี้ได้ผลดีมาก เพราะสอนโดยใช้สถานการณ์จริง ให้น้อง ๆ ลอง reflect เองจากประสบการณ์ตัวเองเชื่อมโยงจากทฤษฎีว่าเคยมีเหตุการณ์แบบนั้นในชีวิตไหม รู้สึกอย่างไร วิธีนี้ทำให้ผู้เรียนเข้าใจแก่น โดยไม่ต้องท่องจำทฤษฎีเลย แต่สามารถเข้าใจได้จริงในเชิงลึก
ผลักดันแนวคิดจิตวิทยาเชิงบวก เติมพลังให้ครูและนักศึกษาครูทั่วประเทศ
ก้าวต่อไปสำหรับทีม Mindset Maker คือการพัฒนาแพลตฟอร์มที่เป็นเครื่องมือและคลังความรู้ออนไลน์ เพื่อให้ความรู้เรื่องจิตวิทยาเชิงบวกเข้าถึงได้แพร่หลายยิ่งขึ้น ทั้งสำหรับคุณครู โรงเรียน และผู้ปกครอง
ทีม Disrupt รู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสร่วมสนับสนุน Mindset Maker ในการผลักดันจิตวิทยาเชิงบวกให้แพร่หลายไปถึงเยาวชนทั่วประเทศ ความฝันของเราคือเราอยากให้โรงเรียนและบ้านเป็นที่ปลอดภัย คุณครู ผู้ปกครอง และนักเรียนมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ทำให้เด็ก ๆ เกิดแรงบันดาลใจในการเรียนและพัฒนาตัวเองต่อไปเป็นบุคลากรของประเทศ
ถึงเวลาแล้ว ที่ทุกคนต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนา Mindset ของเด็กและเยาวชน ก่อนที่จะสายเกินไป…