ไข 3 กุญแจ แปลงโฉม “นวัตกรรมเพื่อสังคม” ให้เติบโตอย่างยั่งยืน

September 7, 2023
Jane Santichaivekin

จริงอยู่ ความสำเร็จในการ Scale ส่วนหนึ่งมาจากความเก่งของนวัตกร แต่..นั่นไม่ใช่ความจริงทั้งหมด!!

เพราะยังมีความจริงที่ซ่อนอยู่ภายใต้ความสำเร็จนี้อีกมากมาย

บทความ Why Proven Solution Struggle to Scale Up? จาก Stanford Social Innovation Review กล่าวถึงกุญแจ 3 ดอกสำคัญที่จะสร้างนวัตกรรมเพื่อสังคม (Social Innovation) ให้สามารถสเกลและเติบโตได้ ซึ่งหากมองในบริบทของนวัตกรรมไทย จากกองทุนที่ผู้เขียนคุ้นเคยอย่าง StormBreaker Venture ที่ได้ลงทุนใน EdTech และ Social Innovation จึงได้ข้อสรุปว่า กุญแจทั้ง 3 ดอกนี้สามารถนำมาปรับใช้ในบริบทของประเทศเราได้อย่างลงตัว

กุญแจดอกที่ 1: ตามหานักลงทุนที่เข้าใจ

ว่าด้วยเรื่อง Valley of Death: “สงครามยังไม่จบ ทำไมศพเต็มเลย?”

นวัตกรรมเพื่อสังคมจำนวนมากล้มตายลงในระหว่างที่มาถึงขั้นตอนของการพัฒนา ซึ่งเป็น stage ก่อนที่จะสร้างรายได้ และกระจาย Impact อย่างยั่งยืน เนื่องจากมีทุนไม่เพียงพอที่จะดำเนินกิจการต่อได้ หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ “ตายก่อน impact จะเกิด” การสร้างนวัตกรรมเพื่อสังคมนั้น ก็ต้องมีเงินทุนเช่นกัน ไม่แตกต่างจากการสร้างนวัตกรรมหรือสตาร์ทอัพแบบอื่น ๆ ดังนั้นขนาดของเงินลงทุนก็ควรจะต้องใกล้เคียงกัน

กุญแจดอกแรก คือ นักลงทุนต้องมีความอดทน ยืดหยุ่น ให้เม็ดเงินลงทุนที่มากพอต่อการพัฒนานวัตกรรม ตั้งเป้าหมายร่วมกันกับผู้ประกอบการ และที่สำคัญต้องกล้าเสี่ยง ไม่เร่งรัดเอาผลตอบแทน (return) เร็วจนเกินไป ผู้เขียนเห็นว่ากลุ่มนักลงทุนที่ใกล้เคียงที่สุด ได้แก่ Impact Investor ที่ลงทุนเพื่อประโยชน์ของสังคมเป็นที่ตั้ง และมีความเข้าใจในระยะเวลาของการลงทุนเป็นอย่างดี

กุญแจดอกที่ 2: ร่วมมือกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ

ว่าด้วยเรื่องต่างคน ต่างมา: ทั้งภาครัฐ เอกชน และ Non-Profit ต่างมีทรัพยากร ความถนัด ความรู้ และเป้าหมายที่แตกต่างกัน ซึ่งแท้จริงแล้วนั่นเป็นสิ่งที่ดี เพราะจะช่วยส่งเสริมและเติมเต็มซึ่งกันจนได้ผลลัพธ์ที่มีรอยรั่วน้อยที่สุด หรืออาจจะไม่มีเลยก็ได้ แต่หากทุกฝ่ายไม่รู้จักกัน หรือไม่ได้สร้าง Meaningful Collaboration ร่วมกัน นี่คือสิ่งน่าเศร้าและน่าเสียดายที่สุด

ดังนั้นกุญแจดอกที่ 2 ก็คือ กองทุน หรือหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมให้เกิดการร่วมมือกันของหลาย ๆ ภาคส่วน เช่น การเชื่อมนวัตกรกับบริษัทเอกชน เพื่อให้ได้ลูกค้าเจ้าแรก ทำให้นวัตกรสามารถตั้งตัวได้ และพร้อมที่จะเติบโตต่อไป

อีกส่วนสำคัญในมุมมองผู้เขียน คือ กองทุนควรจะมีการร่วมมือกับหน่วยงานต่างชาติที่มีวิสัยทัศน์เดียวกันหรือใกล้เคียงกัน เพื่อให้นักลงทุนต่างชาติได้เข้าถึงโอกาสในการลงทุน และร่วมสนับสนุนนวัตกรรมในประเทศไทยให้เติบโตมากยิ่งขึ้น

กุญแจดอกที่ 3: อย่าลืมพัฒนาทีมงาน ผู้นำเก่งคนเดียว..ไม่รอด

ว่าด้วยเรื่อง CEO เก่ง: ใน Stage แรก ๆ ปฎิเสธไม่ได้เลยว่าความสามารถของ CEO นั้นทำให้บริษัทได้รับเงินลงทุน และมี Product ที่ยอดเยี่ยม แต่ในขั้นตอนของการ Scale แน่นอนว่าเราต้องการทีมที่เก่งด้วย ไม่ใช่แค่ผู้นำคนเดียวอีกต่อไป

เช่นนี้แล้ว กุญแจดอกสุดท้าย จึงเป็นการพัฒนาทีมอย่างรอบด้าน ทั้งการอัพสกิลพนักงาน การให้ค่าตอบแทนที่สมน้ำสมเนื้อ และพัฒนาความพึงพอใจรวมถึง passion ของพนักงานในทีม นอกจากนั้น ทีมบริหารต้อง Proactive พร้อมที่จะทำความรู้จักและร่วมงานกับบุคคล หรือนักลงทุนจากภาคส่วนอื่น ๆ

สรุปส่งท้าย:

ในการ Scale นวัตกรรมเพื่อสังคมของไทย ต้องการนักลงทุนที่เข้าใจทั้งในเรื่องของระยะเวลาการพัฒนา ขนาดเม็ดเงินลงทุน ความยืดหยุ่น และมีการตั้งเป้าหมายร่วมกันกับนวัตกร นอกจากนั้นต้องอยู่ใน Ecosystem ที่เอื้อต่อการเติบโต คือสามารถร่วมมือกับองค์กรอื่น ๆ เพื่อขยายการใช้งานนวัตกรรมออกไปในวงกว้างมากขึ้น และสุดท้าย ต้องพัฒนาทีมงานให้เก่งไปพร้อมกับผู้นำ


Reference:

Greco KD& A, Deiglmeier K, Greco A, Kriss Deiglmeier is the CEO of Tides. Why proven solutions struggle to scale up (SSIR). Stanford Social Innovation Review: Informing and Inspiring Leaders of Social Change.


Update ความรู้จาก Disrupt ได้ที่ช่องทาง