3 แนวคิดผลักดัน Corporate Innovation นวัตกรรมภายในองค์กร

December 28, 2020
Pat Thitipattakul

ในยุคที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว องค์กรทุกขนาด ทุกประเภท ต้องเร่งปรับตัวเพื่อเอาชนะศึก Digital Disruption องค์กรไม่สามารถยึดติดกับความสำเร็จในอดีตได้อีกต่อไป ผลิตภัณฑ์ที่สร้างรายได้ให้องค์กรมายาวนานก็เสี่ยงถูกผู้เล่นรายใหม่แย่งตลาดด้วยโอกาสใหม่จากสภาพตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป

องค์กรต่าง ๆ จึงเริ่มให้ความสนใจกับการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ออกสู่ตลาด แต่การจะทำ Corporate Innovation ให้สำเร็จนั้น ทุกองค์กรจะต้องเผชิญกับความท้าทายที่สาหัส จะต้องมีการ transform องค์กรในหลากหลายมิติ

ในงาน Education Disruption Conference 2 Professor Chuck Easley จาก Stanford เล่าถึงวิธีการปรับตัวขององค์กรระดับโลกที่ประสบความสำเร็จ และข้อมูลจากงานวิจัยด้าน Corporate Innovation ที่ Stanford ทำร่วมกับ KBANK และ AIS เพื่อถอดบทเรียนการส่งเสริมนวัตกรรมภายในองค์กร ซึ่งประกอบไปด้วย 3 แนวคิดหลัก ดังนี้

1. เราต้องมุ่งหาวิธีการทำลายกฎเกณฑ์เดิม ๆ

ในยุคนี้องค์กรไม่สามารถยึดติดกับความสำเร็จในอดีต ความสามารถ หรือ องค์ความรู้ที่มีได้อีกต่อไป วิธีการพัฒนา talent เองก็เช่นกัน ศตวรรษที่ 20 เป็นยุคอุตสาหกรรม เป็นการผลิตสินค้าจำนวนมากให้ได้มาตรฐานและประหยัดต้นทุนมากที่สุด การศึกษาในยุคนั้นจึงเป็นในรูปแบบการให้คนจำนวนมากเรียนรู้ทักษะเดียวกันตามตำราและฝึกฝนทำซ้ำ ในองค์กรเองก็จะเน้นในเรื่อง operational excellence เน้นให้พนักงานทำตามขั้นตอนอย่างถูกต้อง ทำงานให้เกิดประสิทธิภาพตาม best practices ของแต่ละแผนก โดยเป็นการทำงานตามคำสั่งแบบหลีกเลี่ยงความผิดพลาด

 

ปัจจุบันการดำเนินธุรกิจไม่มีแบบแผนตายตัว กราฟด้านบนแสดงถึงอายุขัยของบริษัทที่มีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ หมายความว่า องค์กรที่ปรับตัวไม่ได้ ก็จะล้มไป นี่เป็นยุคของการคิดค้นสิ่งใหม่ ๆ และปรับตัวให้เร็ว องค์กรจึงจำเป็นที่ต้องต้องฉีกกฎเกณฑ์เดิม ๆ สิ่งต่าง ๆ ที่เคยทำมาจะต้องถูก reimagined ใหม่หมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง process การทำงาน เรื่องความสามารถในการแข่งขันในตลาด เรื่องพฤติกรรมลูกค้า 

เมื่อสภาพแวดล้อมในการทำงานเปลี่ยนแปลงไป การพัฒนาทักษะและ people development plan แบบเดิม ๆ จึงใช้ไม่ได้อีกต่อไป ผู้นำองค์กรจะต้องส่งเสริมทักษะความคิดสร้างสรรค์ กล้าคิด กล้าลอง กล้าทำสิ่งใหม่ กล้าท้าทาย status quo สถานะในปัจจุบัน 

หากต้องการปลูกฝัง mindset ให้พนักงานกล้าที่จะทำลายกฎเกณฑ์เดิม ๆ ผู้บริหารต้องกล้าให้พนักงานคิดนอกกรอบ โดยไม่ยึดติดกับข้อจำกัดหรือสถานะบริษัทในปัจจุบัน เช่น กล้าที่จะสร้างธุรกิจใหม่ใน industry อื่นที่ไม่เกี่ยวกับของเดิม หรือ กล้าที่จะเปลี่ยนวิธีการทำงานโดยสิ้นเชิง

2. สร้างสภาพแวดล้อมในองค์กรที่เอื้ออำนวยต่อการสร้าง innovation

หน้าที่ของผู้บริหารและผู้จัดการ คือ การทำลายอุปสรรคต่อการริเริ่ม อุปสรรคต่อการทดลอง อุปสรรคต่อความผิดพลาดล้มเหลว และอุปสรรคต่อการเติบโต ให้พนักงานในองค์กรสามารถริเริ่ม innovation ได้ง่ายโดยไม่กังวลว่าจะกระทบกับหน้าที่การงานในปัจจุบัน 

องค์กรควรจะต้องให้พนักงานทุกคนสามารถลองผิดลองถูกได้ โดยมีพื้นที่ปลอดภัยให้สามารถเสนอไอเดียใหม่ เป็น sandbox ให้สามารถทดลองทำสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อนได้ และหากผิดพลาด ให้มองเป็นการเรียนรู้ร่วมกัน ไม่ส่งผลต่อการประเมิน performance ตัวอย่างของบริษัทที่โดดเด่นในเรื่องนี้ เช่น Google ที่แม้จะเป็นบริษัทขนาดใหญ่แล้ว ก็ยังรักษา culture ของ innovator ไว้ได้ และมีการตั้ง unit ใหม่เพื่อทดลองสิ่งใหม่หลายหน่วย มีที่ล้มเหลวและสำเร็จ แต่สิ่งสำคัญคือการที่คนของ Google ได้เรียนรู้และพัฒนาทักษะต่อยอดอยู่เสมอ

งานวิจัยของ Harvard Business School และ Nielsen ชี้ในแต่ละปี บริษัทในสหรัฐอเมริการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ราว ๆ 30,000 ชนิดต่อปี และสิ่งที่น่าตกใจคือ 80-95% ของผลิตภัณฑ์เหล่านี้ล้มเหลวจะเห็นได้ว่าการทำงานด้าน Innovation นั้นมีความเสี่ยงสูงมาก แทบจะเรียกได้ว่าความล้มเหลวเป็นเรื่องปกติที่หลีกหนีได้ยาก

หากเป็นองค์กรแบบ traditional ที่ยังไม่สามารถรับความเสี่ยงของ sandbox ได้หรือพนักงานยังไม่พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง อีกวิธีหนึ่งที่สามารถจำกัดความเสี่ยงได้ คือ การปรับโครงสร้างองค์กรให้รองรับการทำงานด้าน innovation และ recruit คนที่มีประสบการณ์ด้านนี้โดยตรงเข้ามาช่วย run เช่น ตั้งแผนกที่แยกออกไปเพื่อดูแลบริบทของการเป็นผู้ประกอบการภายในองค์กร และการพัฒนานวัตกรรมโดยเฉพาะ

3. องค์กรจะต้อง balance ระหว่างการแสวงหารายได้จากช่องทางเดิม กับการทดลองเพื่อหาธุรกิจใหม่

นี่เป็นแก่นของความท้าทายในการจัดการธุรกิจแห่งศตวรรษที่ 21 องค์กรที่อยู่รอดจะต้องทำทั้ง 2 ส่วนไปพร้อม ๆ กัน (ส่วนธุรกิจเดิม และ ส่วนธุรกิจใหม่) และบริหารจัดการด้วยวิธีที่แตกต่างกัน วัดผลต่างกัน

Amazon เป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับเรื่องนี้ ธุรกิจเดิมที่เป็น eCommerce ก็เน้นการสร้างรายได้ ในขณะเดียวกัน Amazon เองก็มีธุรกิจอื่นที่แยกออกมา เช่น Amazon Web Services ซึ่งให้บริการด้าน tech ซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์จาก asset ของธุรกิจเดิมที่มีอยู่เอามาต่อยอดเป็นบริการใหม่ เจาะตลาดใหม่ ซึ่งจะช่วยให้มูลค่าธุรกิจโดยรวมเพิ่มขึ้นมาก

อีกหนึ่งตัวอย่างที่น่าสนใจก็คือ Microsoft ที่อยู่ในตลาดมายาวนานหลายสิบปี Microsoft เริ่มจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ดิจิตอล เมื่อก้าวมาสู่ยุคอินเตอร์เน็ต ก็เริ่มเปลี่ยนโฟกัสพัฒนาแอพพลิเคชั่น เพราะเห็นเทรนด์การเติบโตของตลาด Smartphone จากนั้นก็ได้บุกเบิกสร้างซอฟต์แวร์แบบ Cloud และตอนนี้ได้ปรับรูปแบบอีกครั้ง ภายใต้ผู้บริหารคนใหม่ เพื่อบุกเบิกด้านเทคโนโลยี AI

Microsoft นับว่าประสบความสำเร็จในการสร้างสิ่งใหม่ ๆ ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งหาก Microsoft ยึดติดแต่กับธุรกิจเดิม ไม่ได้ขยายธุรกิจใหม่ ก็คงไม่ได้ครองตำแหน่งในตลาดได้ยาวนานขนาดนี้ ไม่ง่ายเลยที่บริษัทจะยังคงความเป็นผู้นำ ถ้าหากไม่ได้ผู้บริหารที่มีความกระตือรือร้นต่อการพัฒนาแบบนี้จะเป็นไปได้ยากมาก

และนี่ก็คือ 3 แนวคิดหลักจากมุมมองของ Professor Chuck Easley จาก Stanford ที่อยากฝากให้ผู้บริหารองค์กรไทยที่สนใจ Corporate Innovation ลองนำไปปรับใช้ 

สำหรับใครที่อยากเรียนรู้ skills ในการบริหารองค์กรเพื่อออก Corporate Innovation ใหม่ ๆ จากประสบการณ์ตรงของคุณกระทิง พูนผล ห้ามพลาด! โปรแกรม CXO - Chief Exponential Officer หลักสูตรเพื่อการ Transform ผู้นำและองค์กรให้อยู่รอดในยุค Continuous Disruption อ่านรายละเอียด (คลิก)

#CXO #TheNextCXO

Content นี้เป็นส่วนหนึ่งของงาน Education Disruption Conference 2 - Virtual Conference

Update ความรู้จาก Disrupt ได้ที่ช่องทาง