อิคิไก (Ikigai) ปรัชญาเพิ่มความสุขให้ชีวิตวิธีคิดแบบชาวญี่ปุ่น

August 5, 2024
Palida Koyama Yukie
อิคิไก

ทุกคนต่างโหยหาชีวิตที่เติมเต็มและมีความสุข บางคนรู้สึกมีความสุขกับงานที่ทำเพราะได้รับความท้าทาย บางคนได้รับแรงบันดาลใจ บางคนมีเป้าหมายใหม่ ๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะขึ้นอยู่กับปัจเจกบุคคล และ “คุณค่า” ของชีวิต หรือสิ่งที่เรามองหาเพื่อมาเติมเต็มนั่นเอง 

หลาย ๆ คนอาจจะเคยคุ้นเคยหรือรู้จักกับการตั้งเป้าหมายเพื่อสร้างแรงผลักดันอย่าง OKR หรือ SMART Goal ที่ช่วยให้เรากำหนดจุดมุ่งหมายของชีวิตได้ชัดเจน และมีแรงบันดาลใจที่จะมุ่งสู่สิ่งนั้น
แต่ในวันนี้จะพาทุกคนไปรู้จักกับอีกหนึ่งปรัชญาที่ช่วยทำให้ในแต่ละวันของทุกคน “ราบรื่นและมีความสุขขึ้น” และยังคงช่วยให้เรามุ่งสู่เป้าหมายของชีวิตเรา ซึ่งก็คือปรัชญานั้นคือ “อิคิไก (Ikigai)” นั่นเอง

Highlight

อิคิไก (Ikigai) เป็นปรัชญาของชาวญี่ปุ่นที่ช่วยให้ทุกคนหาคุณค่าของชีวิตเจอ และค้นพบกับความสุข ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ทั้งในชีวิตประจำวัน และการทำงาน

  • หลักการของอิคิไก (Ikigai) ประกอบไปด้วย Passion, Mission, Professional และ Vocation ซึ่งเมื่อดูสิ่งที่ทับซ้อนกันขององค์กรประกอบเหล่านี้จะกลายเป็น “คุณค่าของชีวิต”
  • คนเราอาจจะเริ่มค้นหาอิคิไกผ่านความสนใจเล็ก ๆ และสร้างการกระตุ้นให้ตัวเองเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางทีดีขึ้นทีละนิด

อิคิไก (ikigai) คือ

อิคิไก (Ikigai) คือปรัชญาของชาวญี่ปุ่น โดยมาจากคำสองคำผสมกัน คือคำว่า อิคิ (Iki – 生き) ซึ่งแปลว่า “ชีวิต” และคำว่า ไก (Kai – 甲斐) ซึ่งมีความหมายว่า “คุณค่า”  รวมกันเป็น “คุณค่าของชีวิต” หรือเหตุผลที่เราต้องมีชีวิตอยู่ ซึ่งเป็นปรัชญาชีวิตของตนเอง ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ทั้งชีวิตประจำวันและชีวิตการทำงาน ที่จะส่งเสริมให้เรามีความสุขมากขึ้น และใช้ชีวิตโดยปราศจากความสงสัยในตนเองน้อยลง 

โดยเป็นปรัชญาที่ต้องการให้คนเราสามารถสร้างความสุขทางกาย และทางใจได้ ผ่านการรับรู้และตระหนักในตนเอง (Self Awareness) ซึ่งเมื่อผู้ที่มีความเข้าใจคุณค่าของชีวิตแล้ว จะสามารถฝ่าฟันอุปสรรค และมองหาจุดร่วมของประสบการณ์ในชีวิตของตนเองกับสิ่งที่ทำให้ตนเองมีความสุขได้ไม่ยาก

หลักการของอิคิไก (ikigai)

ปรัชญาอิคิไก

แล้วเราจะหา อิคิไก (Ikigai) ของตนเองเจอได้อย่างไร?
Ikigai มีส่วนประกอบหลัก 4 อย่าง โดยทุกสิ่งหล่อหลอมรวมกันตรงกลางของเราคืออิคิไกนั่นเอง

1. Passion 

สิ่งที่คุณรัก (What you love) + สิ่งที่คุณทำได้ดี (What you are good at)

“สิ่งที่เราหลงใหล ในทุก ๆ วัน” หรือสิ่งที่สร้างแรงผลักดันให้เราตื่นมาทำมันทุก ๆ วัน มักเกิดจากสองส่วนในอิคิไก คือ สิ่งที่เรารักที่จะทำ และ สิ่งที่เราทำได้ดีด้วย ซึ่งหลาย ๆ ครั้ง เราอาจจะขาดความหลงใหลในงาน หรือชีวิต เพราะบางทีเราลืมอย่างใดอย่างหนึ่งใน 2 อย่างนี้ไป เช่น บางคนทำงานได้ดี แต่ไม่ได้มีความหลงใหล หรือไม่ได้มีแรงผลักดันมาก เพราะไม่ได้รักสิ่งที่ทำขนาดนั้น หรือกลับกัน เรารักในสิ่งที่ทำมาก แต่บางครั้งหมดกำลังใจ เพราะไม่ใช่สิ่งที่ตนเองถนัด จึงทำให้ความหลงใหลค่อย ๆ หายไปนั่นเอง

2. Mission

สิ่งที่คุณรัก (What you love) + สิ่งที่โลกต้องการ (What the world needs)

“พันธกิจ หรือภารกิจ (Mission)” หลาย ๆ คนเคยสงสัยมั้ย ว่าทำไมในโลกนี้ถึงมีธุรกิจหลายประเภทอยู่ บ้างก็ไม่ได้ทำกำไรมากเท่ากับอีกประเภทธุรกิจหนึ่ง แต่ทำไมยังมีคนที่ยืนหยัดจะทำอาชีพนั้นหรือธุรกิจนั้นต่อไป? คำตอบคือ เพราะมันคือ “ภารกิจ” ในอิคิไกของคนนั้นยังไงล่ะ! สิ่งที่คนเหล่านั้นเชื่อว่ามีแต่เขาที่ทำได้ และเป็นสิ่งที่พวกเขารัก เราจึงเห็นอาชีพมากมายในโลกนี้ ที่กำลังสร้างคุณค่าให้ใครสักคนอยู่ ลองจินตนาการว่ามันจะดีแค่ไหน ถ้าวันนี้เราได้ทำงานที่เรารัก และเป็นสิ่งที่โลกก็ต้องการเช่นกัน

3. Professional 

สิ่งที่เราทำได้ดี (What you are good at ) + สิ่งที่ทำให้เกิดรายได้ (What you can be paid for)

Professional หรืออาชีพที่เราทำเกิดจาก สิ่งที่เราทำได้ดี และ สิ่งที่ทำให้เกิดรายได้ จนถึงจุดนี้สิ่งที่เราทำได้ดีอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เรารักที่จะทำที่สุด แต่เมื่อคนเชื่อมอิคิไก หรือหาตรงกลางของทั้งสี่องค์ประกอบได้แล้ว จะค้นพบโอกาสที่จะทำให้สิ่งที่รักกลายเป็นสิ่งที่สร้างรายได้ ได้ด้วยนั่นเอง

4. Vocation

สิ่งที่โลกต้องการ (What the world needs) + สิ่งที่ทำให้เกิดรายได้ (What you can be paid for) = ทักษะวิชาชีพ (Vocation)

Vacation คือวิชาชีพ หรือจริง ๆ คือ อุปสงค์ของงานในโลกนี้ ที่จะช่วยสร้างรายได้ให้กับตัวเราด้วย ในส่วนนี้ของอิคิไกช่วยให้เราพิจารณาส่วนที่นอกเหนือจากตัวเราออกไปนิดนึง เช่น อะไรคือทักษะที่ตลาดต้องการ และสร้างรายได้ให้เรา เพื่อที่เราจะได้พัฒนาตนเอง หรือทำให้ทักษะของเราเป็นที่ต้องการของโลก เช่นเดียวกัน 

จริงๆ  อิคิไกนั้นเริ่มจากสิ่งเล็ก ๆ และการสังเกตความสุขรอบตัวในชีวิต ดังนั้นทุกคนอาจเริ่มได้จากการบันทึกสิ่งที่เราทำแล้วมีความสุขใน 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา สังเกตสิ่งที่ตนเองทำได้ดี และตั้งคำถามกับการเปลี่ยนแปลงของความต้องการของโลก มาเรียนรู้วิธีตั้งข้อสังเกตและคำถามเพื่อให้เข้าใจอิคิไกของตนเองกัน!

สังเกตและค้นหา อิคิไก (Ikigai) ของตัวเราอย่างไร

1. อะไรคือสิ่งที่เรารัก (What you love?)

จะรู้ได้อย่างไรว่าอะไรคือสิ่งที่เรารัก? การสังเกตและการตกตะกอนชีวิตประจำวันจะช่วยให้เราตระหนักมากขึ้นถึงสิ่งที่เราหลงใหล ซึ่งมีวิธีการทางจิตวิทยาเชิงบวกชื่อ PERMA ซึ่งช่วยให้เราสังเกตสิ่งที่เรารักหรือทำแล้วมีความสุขได้ ซึ่ง PERMA ประกอบไปด้วย 

  • Positive Emotion อารมณ์เชิงบวกที่เกิดขึ้นกับเรา
  • Engagement กิจกรรมที่เราทำแล้วมีความสุข
  • Relationships ความสัมพันธุ์กับคนรอบข้างเราเป็นอย่างไร
  • Meaning ความหมายของชีวิต
  • Accomplishments สิ่งที่เรารู้สึกสำเร็จ 

เราสามารถค้นหาความสุขผ่านเฟรมเวิร์คนี้ได้ ผ่านการสังเกตอารมณ์เชิงบวกที่เกิดขึ้น และจดบันทึกพฤติกรรมหรือสิ่งที่เราทำแล้วทำให้เกิดความสุขเหล่านั้น ในที่สุดสิ่งที่เราบันทึกจะสะท้อนออกมาเป็นสิ่งที่เรารักได้นั่นเอง นอกจากนั้นเราอาจตั้งคำถามเหล่านี้เพื่อสำรวจตัวตนเพิ่มเติม

  1. หากไม่ต้องกังวลเรื่องเงินเลย ฉันอยากทำอะไร?
  2. ในวันที่ดีที่สุด ฉันทำอะไรบ้าง?
  3. ฉันยอมประณีประนอมได้กับทุกอย่าง ยกเว้นการทำสิ่งนี้ 
  4. สิ่งใดที่ฉันแค่นึกถึงก็มีความสุขแล้ว

2. อะไรคือสิ่งที่เราทำได้ดี (What you are good at?)

โดยส่วนใหญ่สิ่งที่เราทำได้ดี มักจะเกิดการทั้งพรสรรค์ และพรแสวง ซึ่งล้วนมาจากประสบการณ์ในชีวิตและการฝึกฝนด้วย หากเราไม่แน่ใจจริง ๆ เราอาจจะเริ่มจากการถามหาข้อมูล เก็บฟีดแบค และสังเกตว่าอะไรคือสื่งที่เรามั่นใจในตอนทำ หรืออาจตั้งคำถามเหล่านี้ 

  1. เรื่องที่ฉันมั่นใจและรู้สึกว่าผู้คนไว้ใจฉันได้?
  2. ส่วนไหนของงานที่เรารู้สึกว่าเรามีความสำคัญ และมีพลังในการตัดสินใจ?
  3. จุดแข็งของฉันคืออะไร?
  4. ฉันเป็นปรมาจารย์ด้านไหนมากที่สุด?

3. สิ่งที่ทำให้เกิดรายได้ (What you can be paid for?)

คือสิ่งที่สามารถทำให้เราดำรงชีวิตอยู่ได้ หรือสร้างรายได้ให้กับเรา ไม่ว่าจะเป็นงานพาร์ทไทม์ งานประจำ หรือประเภทอื่น ๆ ทั้งนี้จะต้องขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของชีวิตของเราว่างานนั้นสร้างคุณค่าทางด้านรายได้ให้เราได้มากน้อยตามที่เราต้องการหรือไม่ ซึ่งอาจตั้งคำถามได้ เช่น 

  1. งานนี้สร้างรายได้ที่น่าพึงพอใจสำหรับฉันหรือไม่?
  2. มีคนที่ทำสิ่งนี้แล้วได้รับค่าตอบแทนหรือไม่ ถ้าไม่ จะอยากทำอยู่หรือเปล่า?
  3. งานที่ฉันทำอยู่ทำให้ชีวิตของฉันดีขึ้นอย่างไร?

4. สิ่งที่โลกต้องการ (What the world needs?)

คือสิ่งที่โลกตามหา หรือขาดหาย ในที่นี้อาจจะหมายถึงอุปสงค์ (Demand) ของอาชีพ หรือหมายถึงการสู้เพื่อโลกด้วยอุดมการณ์บางอย่างก็เป็นได้ ส่วนใหญ่ผู้คนอาจคิดว่าสิ่งที่โลกต้องการ จะหมายถึงการเติมเต็มแรงงานและทักษะเท่านั้น แต่จริง ๆ แล้วมันอาจหมายถึงอุดมการณ์ที่โลกต้องการด้วย เช่น ในปัจจุบัน โลกต้องการผู้ที่ต่อสู้เพื่อความยั่งยืน โลกต้องการคนที่ต่อสู้เพื่อความเท่าเทียม หรือโลกต้องการผู้ที่เชื่อมั่นในการสร้างพลังบวก เป็นต้น

ตัวตนและคุณค่าในชีวิตของเราในบางส่วนจึงจะถูกหล่อหลอมจากความต้องการของโลกที่เราอยากจะตอบสนองด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งเราอาจจะเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองได้ เช่น 

  1. โลกต้องการทักษะอะไรมากที่สุดในตอนนี้?
  2. ปัญหาอะไรในโลกหรือสังคมที่กระทบความรู้สึกของคุณ?
  3. สิ่งที่คุณทำจะส่งผลกระทบที่ดีต่อโลกในแง่ไหนบ้าง?
  4. สังคมต้องการคนแบบไหน?

เมื่อเราเริ่มมีความกระจ่างในทั้ง 4 ด้าน ทั้ง Passion, Mission, Professional และ Vocation เราจะสามารถเข้าใจคุณค่าของชีวิตของเรามากขึ้น และสามารถหาความสุขจากมันได้นั่นเอง แม้ว่าสุดท้ายแล้วอิคิไก (Ikigai) จะหมายถึงชีวิตในอุดมคติอย่าง “การทำงานที่มีความสุข ได้รายได้ที่พึงพอใจ แถมเป็นงานที่โลกต้องการ” แม้ว่าฟังดูจะเป็นไปไม่ได้ แต่มันเป็นไปได้ หากเราเริ่มที่จะเห็นคุณค่าที่เชื่อมโยงกับตัวตนของเรา และยอมรับความต้องการและคุณค่าของเราจริง ๆ

อิคิไก (Ikigai) กับการทำงาน

การประยุกต์ใช้อิคิไก ในการทำงาน ไม่ได้เพียงแค่ช่วยเรื่องประสิทธิภาพการทำงานเท่านั้น เพราะเมื่อเราเข้าใจตัวตน และคุณค่าของชีวิต เราจะสามารถจัดการและบริหารชีวิตในภาพรวมได้ดีขึ้น บนพื้นฐานความเข้าใจของตนเอง เช่น การรู้จักบริหารพลังงาน ไม่ใส่ใจพลังงานลบที่ไม่มีคุณค่า หรือการเป็นหัวหน้าที่พยายามเข้าใจคุณค่าชีวิตของลูกน้องและยอมรับความแตกต่าง 

อิคิไก จึงเป็นมากกว่าการหาหนทางความสุขในการทำงาน แต่คือความหมาย และความสงบในจิตใจเช่นเดียวกัน

บทสรุปของอิคิไก (Ikigai)

อิคิไก คือ คุณค่าของชีวิต ที่เราสามารถมองหาและสังเกตได้ ประโยชน์ของอิคิไก คือการช่วยให้เข้าใจตนเอง และตระหนักรู้ถึงคุณค่าที่สำคัญในทุกมิติ ทำให้เกิดความเชื่อมโยงซึ่งช่วยให้คนเราใช้ชีวิตประจำวันและการทำงานที่ดียิ่งขึ้น หากสนใจการนำอิคิไกไปใช้กับการบริหารองค์กร การทำให้หัวหน้าทีมเข้าใจเป้าหมายของตนเอง สามารถติดต่อผู้เชี่ยวชาญของเราได้ที่ Disrupt Corporate Program

Update ความรู้จาก Disrupt ได้ที่ช่องทาง