เคล็ดลับ Fundraising จากประสบการณ์ ClaimDi, Drivemate, Fastwork

September 16, 2020
Pat Thitipattakul

ใกล้เข้ามาแล้วสำหรับ dtac accelerate batch 7 Demo Day งานที่เหล่าสตาร์ทอัพ batch 7 จะได้ขึ้น pitch บนเวทีสุดอลังการ ฉลองจบโครงการ นำเสนอการเติบโตที่เกิดขึ้นและสิ่งที่ได้ทำในโครงการ ซึ่งในงานนี้จะมี investor จากหลากประเทศในเอเชียเดินทางมาเข้าร่วมกว่า 200 รายด้วย เป็นโอกาสอันดีในการระดมทุน

ใน session ของ bootcamp ครั้งนี้ จึงมีเป้าหมายในการเตรียมตัวให้เหล่าสตาร์ทอัพ batch 7 มีความพร้อมในการเตรียมระดมทุน ทาง dtac accelerate จึงได้เชิญ alumni ของโครงการอย่าง คุณแจ็ค ClaimDi จาก batch 2 ที่เรียกได้ว่าเป็นสตาร์ทอัพยุคบุกเบิก InsurTech ชั้นนำของไทยซึ่งกำลังระดมทุน Series B รวมถึง คุณอ๋อง Drivemate จาก batch 5 และคุณตั๊บ Fastwork จาก batch 4 ที่ประสบความสำเร็จในการระดมทุน Series A มาแล้ว มาแชร์ประสบการณ์และเคล็ดลับให้กับสตาร์ทอัพรุ่นน้อง ปิดท้ายด้วยคุณมะเหมี่ยว Director กองทุน 500 TukTuks มาแนะนำในมุมมองของ VC (Venture Capital) ด้วย

คุณแจ็ค ได้แชร์ว่า สตาร์ทอัพต้องมีความพร้อมเสมอในการเข้าไปคุยกับ VC กล่าวได้ว่า CEO ของสตาร์ทอัพ ถ้าเลือกว่าจะมาสายนี้แล้ว ต้องมี mindset ว่า fundraising เป็นส่วนหนึ่งของหน้าที่หลักเลย เพราะต้องนำเงินมาใช้ในการ scale ธุรกิจให้โตต่อไปเรื่อยๆ ไม่หยุดนิ่ง การระดมทุนมีความยาก มักใช้เวลานาน และต้องใช้ความพยายามเยอะ ตัวผู้ก่อตั้งต้องเป็นคนทำเองทั้งหมด ไม่ใช่ให้คนอื่นทำ แม้งานจะยุ่งแค่ไหนก็ตาม ก็ต้องเผื่อเวลาไว้ให้การระดมทุน สตาร์ทอัพจึงต้องเตรียมตัวให้ดีตั้งแต่ early stage ซึ่งคุณแจ็คได้แชร์เคล็ดลับเพิ่มเติมไว้อีกดังนี้


ต้องรู้ว่านักลงทุนแต่ละรายสนใจอะไร research และถามเก็บข้อมูล

ข้อนี้เป็นข้อที่สตาร์ทอัพมักมองข้าม แต่ว่าสำคัญมาก เพราะนักลงทุน VC แต่ละรายมีความสนใจไม่เหมือนกัน และมีมุมมองที่ต่างกัน เช่น คนหนึ่งชอบธุรกิจโตไว เสี่ยงก็ไม่เป็นไร อีกคนชอบธุรกิจที่มั่นคง ค่อยๆ โตก็ได้แต่ว่าฐานลูกค้าต้อง retention rate สูง หรือ บางคนสนใจธุรกิจที่โตในระดับภูมิภาคได้เท่านั้น บางคนก็โอเคกับธุรกิจที่อยู่ในตลาดประเทศอย่างเดียว จะเห็นได้ว่ามุมมองนั้นมีความหลากหลายมาก คุณแจ็คเองก็มีประสบการณ์ตรงที่ได้พลาดโอกาสไป โดยคุณแจ็คได้เล่าว่า เคยคุยกับ VC ไว้มานานมาก เป็นเวลาหลายเดือน ทาง VC เองก็ดูเหมือนสนใจ มีโอกาสน่าจะลงทุนสูง แต่ปรากฎว่า มี meeting ครั้งหนึ่งที่คุณแจ็คตอบคำถามพลาด พูดผิดไปแค่ 1-2 ประโยค เพียงเท่านี้ก็ทำให้เขาเปลี่ยนใจไม่ลงทุนเลย ดีลล่ม เพราะฉะนั้นคุณแจ็คจึงเน้นย้ำเสมอว่าต้องเตรียมตัวให้ดี ทำการบ้านมาเยอะๆ ต้องรู้ให้ได้ว่าเขาสนใจอะไร หรือน่าจะมี concern เรื่องไหนเป็นพิเศษ จะได้เตรียมข้อมูลเผื่อไว้ สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน

ดังนั้นถ้าสตาร์ทอัพอยากจะดึงดูดความสนใจของนักลงทุน จะต้องพยายามทำความเข้าใจว่านักลงทุนที่เราคุยด้วยนั้นสนใจอะไร ซึ่งคุณแจ็คแนะนำว่าสามารถทำได้หลายวิธีดังนี้

  • หาข้อมูล online ในเว็บไซต์ต่างๆ เช่น เว็บไซต์ของ VC นั้นๆ, crunchbase, techsauce ไปดูว่าเขามี investment mandate อย่างไร ลงทุนอะไรไปบ้าง มีตัวไหนที่ story คล้ายๆ ของเราไหม
  • พูดคุยกับคนอื่นๆ ในวงการสตาร์ทอัพ โดยเฉพาะคนที่มีประสบการณ์เคยระดมทุนมาแล้ว อย่าง community ของสตาร์ทอัพใน dtac accelerate ซึ่งสามารถให้ข้อมูลเชิงลึกได้ และส่วนมากก็จะรู้จักกับ VC เยอะ สามารถแนะนำได้เยอะ
  • ในตอนที่ได้เจอกับ VC ครั้งแรก อย่าพลาดโอกาสที่จะถามข้อมูลจากเขาให้มากที่สุด สตาร์ทอัพมักจะเอาแต่เสนอผลงานของตัวเอง โดยไม่ค่อยให้ VC ได้พูดเท่าไร แต่ที่จริงแล้ว ในระหว่างที่นำเสนอ ถ้าเราคอยถามว่าเขาคิดอย่างไร เราจะได้ข้อมูลที่ล้ำค่ามาก ที่สามารถเอาไปปรับแก้ต่อในการนำเสนอครั้งต่อไป และยังเป็นการสร้าง relationship ด้วย นอกจากนี้ควรถามเกี่ยวกับกองทุนของเขา กระบวนการตัดสินใจ ความคิดเห็นของเขาต่อ industry ความคิดเห็นของเขาต่อ solution ของเรา อะไรที่เขาอยากให้เราพัฒนาเพิ่ม เป็นต้น ข้อมูลหลายอย่างไม่สามารถหาได้บน internet แต่เราสามารถรู้ได้ง่ายๆ เพียงแค่ถาม VC เมื่อมีโอกาสได้เจอ

พอเรารู้แล้วว่า VC กองไหนเป็นอย่างไร เราก็ต้องพยายามปรับ pitch และภาพรวมการนำเสนอของเราให้ไปในทิศทางนั้น ซึ่งบางครั้งก็ต้องปรับหน้างาน ณ ตอนนั้นเลย คุณแจ็คเล่าว่า ClaimDi ทำ deck แยกสำหรับแต่ละ VC โดยเฉพาะเลย นำเสนอไม่เหมือนกัน เน้นประเด็นต่างกัน เล่าเรื่องด้วยวิธีการที่ต่างกัน ใส่ข้อมูลรายละเอียดไว้ในส่วน Appendix ด้วย เผื่อโดนถามเจาะลึกเรื่องไหน ซึ่งการทำทั้งหมดนี้ต้องใช้เวลาเยอะ แต่ว่าได้ผลลัพธ์ที่ดี คุ้มค่ากับความพยายาม ดีกว่าทำแบบง่ายๆ แล้วเสียโอกาสไป จะขอโอกาสแก้ตัวใหม่ก็ยาก เพราะ VC เองก็มีตัวเลือกเยอะ คุณแจ็คเล่าว่าคุณแจ็คเองแก้ไข Deck นำเสนอของ ClaimDi มามากกว่า 100 version แล้ว

Deck ต้องมีหลาย version สำหรับแต่ละจุดประสงค์

1) Story Deck เล่าเรื่อง เตรียมไว้สำหรับ meeting แยกแต่ละจุดประสงค์ Investor, Client, Partner, Accelerator ต้องเรียงร้อยเรื่องราวให้ธุรกิจดูน่าสนใจ โชว์การเติบโต

2) Investment Deck 10 หน้าก็พอ เป็นเหมือนสรุปสั้นๆ ที่ส่งให้ VC ดูใน email ครั้งแรก ไม่ต้องเล่าเรื่องแล้ว เอาแค่ pain แล้วบอกว่ามีอะไรที่ทำมาบ้างแล้ว traction เป็นอย่างไร แล้วจะ raise เงินจำนวนเท่าไร เพื่อไปทำไรต่อบ้าง เน้น unfair advantage


ต้องรู้เรื่องธุรกิจของตัวเองเชิงลึก พร้อมโชว์ Data room และ BI Dashboard

ถ้า VC สนใจธุรกิจเรา มักจะมีการขอ Data room ไปดูเพิ่ม ซึ่ง Data room ก็คือ โฟลเดอร์รวมข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับธุรกิจของเรา มีข้อมูลที่เป็นความลับทางธุรกิจ จะรวบรวมไว้บน cloud platform ก็ได้ หรือว่าทำ dashboard ให้ VC access เข้ามาดู real-time ก็ได้ แล้วแต่ที่คิดว่าเหมาะสม

คุณแจ็คสร้าง folder บน dropbox แล้ว sync กับเครื่อง ซึ่งทำให้อัพเดทได้ง่าย VC ขอข้อมูลอะไรเพิ่ม สามารถแชร์ผ่าน dropbox ได้ทันที คุณแจ็คกล่าวว่า ความรวดเร็วสำคัญมาก เพราะยิ่งปล่อยนาน หรือใช้เวลานานในการเตรียมข้อมูล VC อาจจะลืมก็ได้เพราะยุ่งกับงานอย่างอื่น หรือเปลี่ยนใจ อีกทั้ง VC อาจรู้สึกว่าเราน่าเชื่อถือน้อยลงด้วยถ้าทำอะไรช้า เพราะว่า VC คาดหวังว่าตัวเจ้าของธุรกิจต้องรู้จักธุรกิจของตัวเองเป็นอย่างดี รู้ข้อมูลแทบทุกอย่างในการดำเนินงาน VC คาดหวังว่าเราควรมีการติดตาม track ข้อมูลพวกนี้ และ metrics ต่างๆ เพื่อมาใช้ตัดสินใจในธุรกิจเป็นประจำอยู่แล้ว ถ้าขอข้อมูลแล้วส่งมาช้า แสดงว่าปกติไม่ได้เก็บข้อมูลเลย VC ก็ไม่มั่นใจในตัวเรา ในจุดนี้ การทำ BI (Business Intelligence) dashboard จะช่วยได้มาก คุณแจ็คเองทำข้อมูลลึกถึงขั้นว่า รู้ productivity ของพนักงาน 1 คนใน 1 วันว่าทำอะไรบ้าง คุณแจ็ค และ manager ของ ClaimDi สามารถเข้าไปดูข้อมูลเพื่อตัดสินใจแก้ไขเรื่องต่างๆ ได้เลยในวันถัดไป

Data room มีส่วนประกอบดังนี้ (แล้วแต่ประเภทธุรกิจด้วย ให้ปรับตามที่เหมาะสมกับตัวเอง)

  • Corporate Structure
  • Team information
  • Legal and Transaction Documents
  • Financials
  • KPI
  • Investor Presentation
  • Additional Information
  • Market Information อธิบายลักษณะของตลาดในประเทศไทย ในกรณีที่ระดมทุนจากนักลงทุนต่างชาติ เพื่อช่วยให้เขาเข้าใจ

วิธีการทำ Valuation ตีมูลค่าธุรกิจที่คุณแจ็คใช้

เริ่มจากการคำนวณ Run rate ออกมาก่อนตามสมมติฐานของเรา Run rate คือ รายได้รวมใน 1 ปีที่คิดว่าน่าจะทำได้ในปีหน้า มีสมมติฐานได้หลายแบบแล้วแต่ลักษณะรายได้ของธุรกิจเรา ดังตัวอย่าง

  • ใช้รายได้เดือนล่าสุดเป็นตัวตั้ง เช่น เดือนนี้ทำได้ 4 ล้าน สมมติว่าปีหน้าทำได้ 4 ล้านบาททุกเดือน Run rate ก็คือ 4 x 12 = 48 ล้านบาท  
  • เทียบกับปีก่อน ดูอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อเดือน หรือ ต่อไตรมาส เช่น คำนวณมาแล้วว่าปีนี้รายได้โตเดือนละ 20% ก็นำอัตรานี้ไป forecast รายได้ต่อละเดือนของปีหน้า แล้วรวมยอดมาเป็น Run rate ของปีนั้น
  • หรือ สมมติฐานแบบอื่นๆ ตาม business model ของเรา เช่น subscription

ในทางบัญชี ผู้ประกอบการควรตรวจสอบเรื่องเกณฑ์การรับรู้รายได้ด้วย โดยเฉพาะในกรณีที่เป็นการทำสัญญากับลูกค้าระยะยาว ถ้าลงรายรับมาเป็นยอดเดียวในเดือนนั้น เดือนต่อไปจะดูรายได้น้อยมาก รายได้จะดูเหมือนขึ้นๆ ลงๆ ทั้งที่ความจริงแล้วรายได้ควรรับรู้เฉลี่ยต่อเดือนมาตามระยะที่ทำสัญญา เช่น สัญญา 1 ปี มูลค่า 12 ล้านบาท ถ้าเราบันทึกรายได้ทั้งหมดในเดือนนั้น จะดูเหมือนว่าเรามีรายได้ 12 ล้านบาทในเดือนนั้นและ 0 บาทในเดือนถัดไป ทั้งที่จริงๆแล้ว ทยอยลงเป็นเดือนละ 1 ล้านบาทจะถูกต้องกว่าหากเข้าเกณฑ์มาตรฐานทางบัญชี

เมื่อได้ Run rate มาแล้ว ก็เอามาคูณกับ multiple (ตัวคูณ) มาตรฐานของอุตสาหกรรมนั้น เช่น ถ้าเป็น SaaS (Software-as-a-Service) ให้ x4 - x6 จะได้ตัวเลข valuation คร่าวๆ ซึ่งข้อมูล multiple นี้สามารถหาได้บน internet มีบริษัทที่ทำการ research ตัวเลขพวกนี้อยู่ หมายเหตุว่าตัวเลขเหล่านี้มีการปรับเปลี่ยนตลอด ขึ้นอยู่กับสภาพตลาด ลักษณะเฉพาะของแต่ละประเทศ และปัจจัยอื่นๆ  

ทั้งนี้ตอนตั้งสมมติฐาน อย่าลืมว่า นักลงทุนย่อมคาดหวังว่า Valuation ต้องโตอย่างน้อย 3 เท่าจากรอบที่เขาลงทุน หากเราตั้งสมมติฐานไว้สูงมาก ในความเป็นจริงแล้ว ถ้าในอนาคตทำไม่ได้ หรือไปไม่ถึง ขนาดตลาดไม่ใหญ่พอ ก็จะระดมทุนรอบต่อไปยาก จึงควรคำนวณสมมติฐานหลายๆ แบบ เผื่อกรณีไม่คาดฝัน worst case scenario ไว้ด้วย เช่น รอบนี้ขอ valuation 200 ล้านบาท ประเมินว่ารายได้น่าจะได้ปีละ 40 ล้าน รอบต่อไปนักลงทุนที่ถือหุ้นเราอยู่คาดหวังว่ามูลค่าหุ้นต้องเพิ่ม เพราะฉะนั้นใน 2 ปีข้างหน้า เราต้องทำรายได้ให้ได้ถึงอย่างต่ำ 40 x 3 = 120 ล้านบาท เราควรประเมินตัวเองด้วยว่าจะทำได้จริงไหม ถ้ารู้ว่าทำไม่ได้ งั้นรอบนี้ขอ valuation น้อยว่า 200 ล้านบาทไว้ก่อนอาจจะดีกว่า ถ้านักลงทุนของเราเชื่อมั่นในตัวเราว่าธุรกิจของเราสร้างผลตอบแทนได้จริง เขาย่อมอยากช่วยเหลือเราต่อในการระดมทุนรอบต่อๆ ไป ช่วยแนะนำให้กับนักลงทุนรายอื่น


ควรระดมทุนเงินจำนวนเท่าไรดี

ประมาณการณ์ว่าจำเป็นต้องใช้เงินเท่าไรในการสร้างการเติบโตอย่างน้อย 10-15% ทุกเดือน ดูยอดค่าใช้จ่าย ยอดขาดทุน ที่เกิดแต่ละเดือนที่ผ่านมาเป็นเท่าไร ต้องใช้เงินประมาณเท่าไรในการดำเนินงาน 12-18 เดือน ก่อนไปถึงการระดมทุนรอบถัดไป นำเงินลงทุนที่ได้มาหมุนเวียนในธุรกิจให้โต สตาร์ทอัพขาดทุนไม่เป็นไรแต่ต้องโตเร็ว

ในระดับ Series A ขึ้นไป ต้องเผื่อเงินไว้สำหรับการจ้างบุคลากรเก่งๆ ที่อาจเงินเดือนสูงด้วย และควรมี CFO และ HR ที่เก่ง เพราะเมื่อบริษัทเริ่มใหญ่ขึ้น ก็ต้องมีการบริหารจัดการที่ดีขึ้นไปด้วย


นอกจากนี้ คุณอ๋อง Drivemate และคุณตั๊บ Fastwork ได้เสริมประเด็นต่างๆ ที่น่าสนใจเพิ่มเติมอีกดังนี้

  • ถ้าสามารถขยายไปต่างประเทศได้ ตลาดใหญ่ขึ้น จะ raise เงินจากนักลงทุนต่างชาติได้ง่ายกว่ามาก ทั้งนี้ ตอนเลือกว่าจะไปประเทศไหน ต้องพิจารณาจุดแข็ง จุดอ่อน สภาพตลาดประเทศนั้น และความสามารถในการหา local partner ของเราด้วย แต่ถ้าประเมินดูแล้วธุรกิจเราไม่เหมาะกับต่างประเทศ เหมาะแต่กับคนไทย เราก็ไม่ต้องขยายไปต่างประเทศก็ได้ แต่ต้องยึดครองตลาดไทยให้ได้ อย่างเช่น Wongnai
  • ในระดับ Seed สตาร์ทอัพแค่ต้องแสดงให้ VC เห็นว่าทีมคุณเจ๋งยังไง แล้วพิสูจน์ว่าธุรกิจนี้เป็นไปได้ด้วยการโชว์ early traction แต่ในระดับ Series A ต้องพิสูจน์มาแล้วว่ามีการเติบโตจริง ลูกค้าเยอะจริง และสามารถโตได้อีกเยอะ ส่วนในระดับ Series B ยิ่งต้องมีหลักฐานความสำเร็จ ต้องขยายธุรกิจ ขยายฐานลูกค้า เหมือนอย่าง Grab ที่ตอนแรกมีแค่เรียกแท็กซี่ แล้วปัจจุบันขยายฐานต่อไปอีกจนมีบริการหลากหลาย
  • การระดมทุนมีความไม่แน่นอนสูง ทุกอย่างไม่จบจนกว่าเงินจะเข้าบัญชี ควรเผื่อเวลาอย่างน้อย 6 เดือน ต่อให้มี term sheet จาก VC แล้ว ผ่านการอนุมัติจาก Investment Committee แล้ว เจอคนที่เป็นคนตัดสินใจสูงสุดก็แล้ว บางที deal ก็ยังล่มได้ด้วยปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ ยิ่งเป็น VC ในระดับภูมิภาคยิ่งยาก เพราะตัวแทน VC แต่ละประเทศต้อง present แข่งกันประเทศอื่น
  • เพื่อลดความเสี่ยงในการระดมทุน สตาร์ทอัพควรคุยกับนักลงทุนหลายๆ ราย ทำความรู้จักไว้จะดีกว่า เผื่อหาก deal ล่ม จะได้ยังมีโอกาสขอเงินทุนจากรายอื่นอยู่ เราต้องพร้อมเสมอ
  • สตาร์ทอัพอย่าละเลย existing investors หลังจากที่เขาลงทุนกับเราแล้ว เราควรอัพเดทเขาอย่างน้อยทุก quarter ด้วย เครือข่าย VC ช่วยแนะนำกันได้ VC มักจะรู้จักกันเยอะ เพราะฉะนั้นต้องให้ความสำคัญกับนักลงทุนของเราด้วย อย่างกรณีคุณตั๊บ Fastwork ได้รับเงินลงทุนจาก CyberAgent ซึ่ง CyberAgent ก็เคยลงทุนในสตาร์ทอัพคล้ายกันในญี่ปุ่นซึ่งก็ประสบความสำเร็จ IPO ไปแล้ว เพราะฉะนั้น Cyberagent จึงช่วยแนะนำ Fastwork ได้หลายเรื่องมาก
  • Revenue รายได้ สำคัญมาก ต่อให้ traction เยอะแค่ไหน แต่ถ้าทำเงินได้น้อยก็ไปรอดไปยาก ในระยะแรกทำเงินได้น้อยไม่เป็นไร แต่ถ้าทำมา 1-2 ปีแล้ว ยังไงก็ต้องหา Business model ที่ทำเงินให้เจอ

ในช่วงบ่าย session ของคุณมะเหมี่ยว Director กองทุน 500 TukTuks ได้มาแชร์ต่อในมุมมองของ VC ซึ่งสิ่งที่คุณมะเหมี่ยวอยากจะฝากไว้กับสตาร์ทอัพ early stage ที่ต้องการระดมทุน ได้แก่

  • เมื่อได้รู้จักกับ VC แล้ว ให้คอยส่งอัพเดทให้นักลงทุนดูเรื่อยๆ แม้เขาตัดสินใจยังไม่ลงทุนก็ตาม ทำความรู้จัก สร้างความสัมพันธ์ไปก่อน พิสูจน์ตัวเอง พอธุรกิจเริ่มไปได้ดีขึ้น จะได้มีโอกาสเข้ามาคุยกันเรื่องลงทุนใหม่ อย่าง 500 TukTuks เองก็มีกรณีที่ตอนแรกไม่แน่ใจว่าจะลงทุนไหม ขอรอดูไปก่อน แล้วผ่านไป 1-2 ปีมาคุยกันใหม่ถึงได้ตัดสินใจลงทุน
  • นอกเหนือจาก investment deck ที่คุณแจ็คได้กล่าวถึงไปแล้ว อยากให้มี teaser 1 หน้าที่อ่านแล้วเข้าใจเลย สรุปข้อมูลสำคัญภายใน 1 หน้า แนบส่งไปใน email ด้วย ทำให้ยิ่งง่ายสำหรับ VC ในการตัดสินใจว่าจะนัดหมายเราไหม โดยใน 1 หน้านั้นควรมีข้อมูลที่ทำให้เห็นภาพว่าธุรกิจนี้น่าสนใจอย่างไร เป็น paragraph สั้นๆ อธิบาย ซึ่งดีกว่าการมี bullet point เฉยๆ ควรใส่ตัวอย่าง ใส่กราฟ โชว์ UI/UX คร่าวๆ core techology คืออะไร market เป็นยังไง revenue เป็นยังไง แล้วสรุปไปให้ด้วยว่า Why invest ทำไมนักลงทุนถึงควรมาลงทุนกับเรา
One-paper pith deck
  • ในการเขียนส่วน Why invest ปัญหาส่วนใหญ่ที่คุณมะเหมี่ยวพบก็คือว่า หลายคนชอบเขียนอธิบายมาว่าธุรกิจทำอะไร แต่ไม่ได้ชูจุดแข็ง unfair advantage ว่ามันน่าสนใจอย่างไร เช่น

    แบบแรก เราคือแพลตฟอร์มซื้อขายที่ช่วยให้ขายคอนโดได้ง่ายขึ้น
    แบบสอง แพลตฟอร์มซื้อขายคอนโดอันดับ 1 ของไทย มีผู้ใช้กว่า 1 ล้านราย

    จะเห็นได้ว่าแบบสองดึงความสนใจได้มากกว่า ให้นึกถึงการเขียนโฆษณาให้บริษัทตัวเองว่าทำอย่างไร เน้นประเด็นไหน ถึงจะดูน่าสนใจ น่าลงทุน

หากอยากรู้มุมมองของ VC ในเรื่องการระดมทุน สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ในบทความของ 500 TukTuks เผยเคล็ดลับ Fundraising ช่วยสตาร์ทอัพเตรียมตัวระดมทุน

ติดตามข่าวสารความรู้ในวงการสตาร์ทอัพได้ทางเพจ Disrupt Technology Ventureและพบกันที่งาน Education Disruption Conference 2020: Reimagine Thailand’s Education 2030, Virtual Conference ที่จะพาทุกคนมาเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของการศึกษาไทยที่กำลังจะเกิดขึ้น ผ่าน Content สุด exclusive จากผู้เชี่ยวชาญระดับโลกมากมาย พร้อมทั้งฟังประสบการณ์ จาก EdTech Startups และ Social Entrepreneurs ที่ประสบความสำเร็จทั้งในไทยและต่างประเทศ ลงทะเบียนได้แล้ววันนี้ ที่นี่


Update ความรู้จาก Disrupt ได้ที่ช่องทาง